. . เ ปิ ด ต ำ น า น ด า บ แ ห่ ง ไ ฟ . . H O N D A . . C B R 1 0 0 0 R R . .

. . เ ปิ ด ต ำ น า น ด า บ แ ห่ ง ไ ฟ . . H O N D A . . C B R 1 0 0 0 R R . .

กาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว…

ในโลกแห่งรถสปอร์ตไบค์ มีแนวคิดที่จะทลายกำแพงความจุของรถสปอร์ตพิกัด 750cc  ซึ่งเป็นพิกัดยอดนิยมในขณะนั้น
โดยมีเป้าหมายที่วางไว้เกี่ยวกับรถสายพันธุ์นี้คือ การควบคุมที่ง่ายไม่ต่างจากรถ 750  ขณะที่พิกัดเครื่องยนต์นั้นใกล้เคียงกับรถสปอร์ตสายทัวริ่ง 1000-1100cc เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่รักความเร็วทั้งหลายแหล่บนถนนหลวงที่คดเคี้ยวทอดยาวไกลพร้อมๆกับความเร่าร้อนในสนามแข่งด้วย…

เพื่อการนั้น Honda CBR 900 RR หรืออีกนามหนึ่งคือ Fireblade ดาบแห่งไฟ… จึงได้ถือกำเนิดขึ้น..

ผ่านการเดินทางร้อนหนาว ฝ่าอุปสรรคมากมายผ่านมา 25 ปี
ดาบเล่มนี้คมขึ้น คมขึ้น.. ปีแล้ว .. ปีเล่า ..
จนในที่สุด ก็ถือกำเนิดสุดยอดดาบแห่งไฟเล่มใหม่ที่เหนือล้ำกว่าดาบไฟเล่มไหนๆในอดีตที่เคยผ่านมา
แต่ยังคงสืบสานเจตนารมย์ ดาบแห่งไฟ มิเสื่อมคลาย

และนี่คือ

HONDA CBR 1000 RR แห่งปี 2017 ยิ้มยิ้ม

ท้าวความที่มาที่ไปของการได้ควบเจ้า CBR 1000 RR ใหม่นี้สักเล็กน้อย…

ข้อความใน LINE ปรากฏขึ้นว่า ทาง AP Honda ได้ให้เกียรติเชิญสื่อมวลชนประมาณ 10 เจ้ามาทดลองขับขี่เจ้า CBR1000RR ใหม่ รวมถึงรถ MotoGP จำแลงอย่าง Honda RC213V-S
ที่สนามช้างอินเตอร์แนชั่นแนลเซอร์กิต ซึ่งทาง Just Ride it ของเราเผอิญโชคดีติดโผนั้นเข้าไปด้วย จึงเป็นที่มาของการเดินทางในครั้งนี้ครับ.. ยิ้มยิ้ม


RC213V-s The Ultimate Riding Xperience

สำหรับงานขับขี่ในครั้งนี้ แน่นอนพระเอกของเราเป็นเจ้า RC213V-S ที่เป็นรถม้าศึกของ Marc Marquez  แชมป์โลก MotoGP คนปัจจุบันและ Dani Pedrosa เพื่อนร่วมทีม แต่กระนั้นเจ้า CBR 1000 RR ก็หาใช่พระรองไม่ เอาเป็นว่าเป็นพระเอกร่วมแล้วกัน

สำหรับรายละเอียดในเนื้องานอาจจะไม่ขอกล่าวมากมายผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ล้วนเป็นบุคคลระดับ VIP รวมถึงนักแข่งชั้นแนวหน้าของทาง Honda ทั้งสิ้น แต่เอาเป็นว่าเราจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดตรงนี้มากมายรอชมจาก
สมัญตาชีวบุตร_omega13 อีกรอบหนึ่งนะครับ  อมยิ้ม17อมยิ้ม17


เนื่องจากรถ RC213V-S ที่ใส่ชุด Race Kit มาแล้วมีราคาถึง 9 ล้านกว่าบาทและเวลาในสนามมีจำกัด จึงจำเป็นจะต้องมีการขี่ qualify เพื่อคัดเลือกกันเล็กน้อยด้วย Honda CBR650F
แล้วนักขี่สายถนนที่ปีนึงจะลงสนามสักครั้งจะมีสิทธิ์หรือไม่ เดี๋ยวขอกล่าวในกระทู้หน้าดีกว่า แต่การมาในครั้งนี้ รถที่ผมตั้งใจมาขี่ก็คือ CBR 1000 RR คันใหม่ ส่วนเจ้า RC213V-S ถ้าเกิด Qualify ผ่านได้ขี่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิตครับ

จะตกหรือจะผ่าน รอชมกระทู้หน้าครับ ยิ้มยิ้ม

ก่อนจะไปพบกับเจ้า CBR 1000 RR คันใหม่ล่าสุด อยากจะขอเหลาตำนานอันยิ่งใหญ่ของเจ้า Fireblade กันสักนิด

ป.ล. มันเป็นความอยากเขียนของผมเอง เพราะผมเป็นแฟนรถเก่า ก่อนจะเล่ารถใหม่ ทนอ่านรถเก่าหน่อยนะครับ อมยิ้ม17อมยิ้ม17

เริ่มกันเลย..

จริงๆแล้วเจ้าดาบไฟนั้น ถ้านับตั้งแต่เริ่มต้นจะถูกแบ่งออกเป็นรุ่นย่อยๆ ได้ถึง 12 รุ่นก่อนจะมาเป็นตัวล่าสุด แต่นั่นเป็นการนับรุ่น Minor Change ด้วย
ถ้าจะนับ Major Change กันจริงๆ เอาแบบที่ผมทึกทักเอาเองนั้นมีเพียง 6 รุ่นหลักๆ ที่ผมบังอาจตั้งชื่อให้ด้วย หัวเราะหัวเราะ

1. CBR 900 RR
2. CBR 929 RR
3. CBR 954 RR
4. CBR 1000 RR  โฉมท่อออกตูด
5. CBR 1000 RR  โฉมนกแก้ว
6. CBR 1000 RR  โฉมกระต่าย

ป.ล. ทางเพื่อนสมาชิกบอกมาว่า รุ่นตากลมในบ้านเราเรียกว่า “รุ่นหน้าสิว” หลิ่วตาหลิ่วตา

CR : Motorcyclist

CBR 900 RR ( 1992 – 1999 )

รุ่นนี้มาพร้อมกับเครื่อง 900cc 4 สูบ 16 วาล์ว จ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์ ไฟหน้ากลมตามยุคสมัยผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ  แต่อนิจจาเกิดมาปลายยุคไฟกลมเสียแล้ว ตากลมไม่มีผมเลยจำต้องเปลี่ยนมาเป็นไฟหน้าตาหมาป่าแทน
จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนอีกอย่างหนึ่งคือ ล้อหน้าขนาด 16 นิ้วที่ทำให้มันเลี้ยวได้เร็วอย่างเหลือเชื่อในยุคนั้นแต่หายางใส่ได้ยากเช่นกัน

ภายใต้รุ่น 900 นั้น ยังแบ่งเป็นอีก 4 รุ่นย่อยๆ ในช่วงอายุของมันคือปี 1992 – 1999 ด้วยกัน ดังนี้

– รุ่น 893 CC  122 แรงม้า  ไฟหน้ากลม ( 92-93 )
– รุ่น 893 CC  124 แรงม้า ไฟหน้าตาหมาป่า ( 94-95 )
– รุ่น 919 CC  126 แรงม้า   ( 96-97 )
– รุ่น 919 CC  128 แรงม้า  ( 98-99 )


ตัวผมเองเคยมีโอกาสได้ควบรุ่น 919 CC 128 แรงม้าอยู่  แม้ช่วงล่าง ขนาดล้อและท่อไอเสียจะไม่เดิมแท้ แต่ก็พอจะบอกกล่าวได้คร่าวๆ ว่า บรรพบุรุษของเจ้า CBR 1000 RR นั้นมีคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจนในตัวเองว่า เป็นรถที่น้ำหนักเบา เครื่องยนต์ใช้งานได้ง่ายในรอบต่ำและกลางๆ ทอร์คมีให้ใช้ไม่ขาดมือตามสไตล์รถ Honda

เบาะนั่งให้ความสบายในระดับหนึ่ง สรีระศาสตร์ไม่มีการประนีประนอม เป็นแบบตัวแข่งยุคเก่าที่นั่งสูงก้มมากกว่าสปอร์ตยุคใหม่ ( อาจจะเป็นด้วยเจ้าคันที่ผมขี่นั้นใช้พักเท้าแต่งด้วย )  ท่าการเข้าโค้งหากใช้ท่าเอาศอกลงเฉกเช่น มาร์ค มาเกซ ตามการขับขี่เรซซิ่งแบบสมัยใหม่ รถมันไม่ไปด้วย
ต้องใช้ท่าของไมเคิล ดูฮาน  เอาตูดลงแทน แบบนี้ค่อยยอมไปหน่อย ร้องไห้ร้องไห้

แต่ถ้านับว่านี่เป็นสมรรถนะของรถเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มันก็ว้าวเลยหล่ะ  ประหลาดใจประหลาดใจ

ในช่วงเวลานั้นไม่น่าจะมีรถจากค่ายอื่นในคลาสนี้ที่ขี่ได้ง่ายอย่างเจ้าดาบไฟนี้แล้ว
อ้อ… น้ำหนักไม่รวมของเหลวของรุ่นนี้ป้วนเปี้ยนแถวๆ 185 กก ซึ่งถ้ารวมของเหลวคงประมาณ 200 ต้นๆ ซึ่งถือว่าเบามากมายสำหรับรถตัว( เกือบ ) พันในยุคนั้น

ไฟหน้าตาหมาป่า

CBR 929 RR (2000-2001)

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งสำหรับสายพันธุ์ 900 โดยการเพิ่มเติม CC ขึ้นจากเดิม 919 CC เป็น 929 CC
และเปลี่ยนไปจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด PGM-FI แทนคาบูเรเตอร์ แรงม้าที่เพิ่มขึ้นแบบมโหฬารเป็น 152 แรงม้า
ตัวรถโดยรวมถูกเปลี่ยนแปลงใหม่เกือบหมด ชุดหน้าเปลี่ยนไปใช้ช๊อคแบบ Up side down ซึ่งมาพร้อมกับล้อหน้าขนาด 17 นิ้ว ซึ่งผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งมวล Honda สามารถลดน้ำหนักตัวที่เบาอยู่แล้วของเจ้า Fireblade ลงไปอีกถึง 10 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักแห้งของเจ้า 929 หนักแค่ 170 กก เท่านั้น


แม้เสียงลือเสียงเล่าอ้างในยุคนั้นจะบอกว่าเจ้า 929 นั้นในด้านกำลังเครื่องและความแรงสู้ไม่ได้แม้กระทั่ง GSX-R750  ( อย่าถามถึง GSX-R1000 ) เพราะตอนนั้นขึ้นหิ้งสุดยอด Sportbike ในขณะที่ R1 ปีเดียวกันก็ยังเป็นรถที่เล่าขานว่าดีกว่า 929

จุดด้อยหลักๆอีกอย่างเลยจากการที่ผมเคยขี่เจ้า 929 คือระบบจ่ายน้ำมันซึ่งเป็นตัวแรกเลยในสายพันธุ์ที่ใช้หัวฉีด
ซึ่งต้องบอกว่ายังเนียนสู้ค่ายอื่นไม่ได้ รอบต่ำยังมีอาการตะกุกตะกักอยู่บ้าง ยิ่งถ้ารถคันไหนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบ HVIX ( พวกวาล์วแถวๆท่อไอเสีย ) แรงต้นจะแทบไม่มีเลยและเดินคันเร่งตะกุกตะกักมาก ( ตามประสารถเก่า )

อย่างที่บอกในข้างต้น แม้ในด้านเครื่องยนต์จะเป็นรอง แต่ในด้านน้ำหนักที่เบามาก ( น้ำหนักเปียกไม่ถึง 200 โล!!! )และการควบคุมนั้นเชื่อมือ Honda เถอะ  เจ้า 929 เป็นรถที่น้ำหนักเบา ขี่ง่าย นั่งสบาย ( แม้จะเป็นรอง ZX9 ซึ่งเจ้านั้นออกไปแนวทัวร์ริ่งนิดๆ ) Balance ระหว่างการใช้งานบนถนนและสนามนั้นถือว่ายอดเยี่ยมในยุคนั้น

จากที่เคยได้ลองขับขี่บอกได้เลยว่า ฟีลลิ่งนั้นค่อนข้างดี แม้จะไม่เหมือนรถยุคใหม่เสียทีเดียว แต่ก็ถือว่าตามมาแบบห่างๆ ยังเห็นกันอยู่ในสายตา ท่วงท่าการควบคุมนั้นไม่ต้องออกแรงมากรถก็พร้อมที่จะเลี้ยว หน้าคมๆของรถสปอร์ตผสานกับช๊อคหน้าแบบ Up side down ทำงานได้น่าประทับใจ และยิ่งไปกว่านั้น ระบบเบรกมันคือดีอ่ะ แม้หน้าตาจะโบราณไปหน่อยก็เถอะ จุ๊บๆจุ๊บๆ


อะไรคือ ขี่เอง ถ่ายเอง ร้อนเอง รีบตั้งกล้องแล้วถ่ายไม่ชัด =___=’
ทำงัยดี รูปก็มีแค่นี้ ขออนุญาติลงรูปไม่ชัดนี่ละกันนะครับ T___T

CBR 954 RR ( 2002-2003 )

เพื่อดึงเกมส์หรือขัดตาทัพต้านข้าศึกที่แสนร้อนแรงอย่าง GSX-R 1000 กับ YZF-R1  ทาง Honda ได้ทำขยายลูกสูบขึ้นเพื่อให้มีพิกัดใกล้เคียงกับคลาส “พัน” มากขึ้น
ส่งผลให้พิกัด CC ขึ้นไปแตะที่ 954CC และแรงม้าเขยิบเป็น 154 แรงม้านอกจากนี้ยังถูกเกล่าส่วนต่างๆ ที่ยังไม่เข้าทีทเข้าทางของ 929 ใหม่ในหลายๆ ด้าน
แถมน้ำหนักที่เบาอยู่แล้วก็ยังลดลงอีก เหลือเพียง 168 กก ( น้ำหนักแห้ง )  ส่วนน้ำหนักเปียกก็ไม่ถึง 200 กิโลกรัม ถือว่าเป็นดาบที่เบาที่สุดในสายพันธ์ Fireblade เลยทีเดียว

ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้ 954 เป็นดาบเล่มสุดท้ายในสายพันธุ์ 900 ที่กล่าวขานกันว่าเป็นดาบที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเลยทีเดียว
จุ๊บๆจุ๊บๆ


จากการที่ได้ขับขี่รถหัวฉีดในยุคเริ่มต้นของ Honda นั้นทำให้ทราบอย่างหนึ่งว่า คาแร็คเตอร์ของเครื่องยนต์นั้นแตกต่างกับยุคคาร์บูเรเตอร์อย่างสิ้นเชิง ฟีลลิ่งเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนไปใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ในยุคโมเดิร์นมากขึ้น
การส่งกำลังในรอบกลางและสูงมากหนักหน่วงขึ้นมากมาย ( ด้วย CC ที่เพิ่มขึ้นด้วย ) หากแต่รอบต่ำกับประสบปัญหาการจ่ายน้ำมันที่ไม่เสถียรของหัวฉีดในยุคนั้นซึ่งก็เป็นปัญหามาตั้งแต่ 929 และยังแก้ไม่หาย T___T

ในด้านสรีระศาสตร์และการควบคุมนั้น ส่งต่อมาจาก 929 ครบถ้วนแต่ดูเหมือนจะเติม DNA ในสนามมากขึ้น  ท้ายถูกยกสูงหน้าจิกมากขึ้น ( แต่เดิมๆ เป็นอย่างไรไม่รู้เพราะคันที่ผมขี่นี้ช่วงล่างหน้าถูกปรับเปลี่ยนมาแล้ว )

โดยรวมของเจ้า 954 นั้นคือ 929 ที่แรงขึ้นแบบรู้สึกได้ สปอร์ตขึ้นขึ้น เบาขึ้น การควบคุมเฉียบขึ้น


หล่อๆ กับเจ้า 954 สักรูป

CBR 1000 RR ( 2004-2005 )

การมาถึงของเจ้า CBR 1000 RR คันใหม่ที่มีท่อออกตูดและรูปทรงที่ดูโฉบเฉี่ยวลล้ำสมัยทำให้ 10 ปีที่แล้วผมแทบคลั่ง เครื่องยนต์พิกัดพันเต็มที่ตามตลาดสมัยนิยมถูกเผยขึ้นด้วยม้าถึง 169 ตัวที่ใช้งานง่ายและจ่ายน้ำมันได้สมูธ ( เสียที )

ชุดช่วงล่างหน้า Up side down เบรกแบบ radial mount สวิงอาร์มหลังและช่วงล่างแบบ Unit prolink ทำให้มันดูดีโคตรๆ แต่แน่นอน มันหนักขึ้นกว่า 954 ขึ้นอีกพอสมควร  โดยน้ำหนักแห้งอยู่ที่ 176 กก

และ CBR ก็กลับเป็น CBR ในแบบที่ขี่ง่าย ใช้งานง่ายแบบที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบันนี้


สำหรับรูปการขับขี่รุ่นนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะนำมา Update ให้ดูอีกทีครับ

ในปี 2006 มีการปรับปรุงหน้าตาเล็กๆน้อยๆ ( โดยส่วนตัวผมว่ารุ่นปี 2004 สวยกว่า ) รวมถึงปรับปรุงเครื่องยนต์และอัตราทดเล็กๆน้อย แรงม้ารุ่นๆ ก็ทะลุ 170 ตัวไปหยุดที่
172 ตัวจนได้ ซึ่งหลังจากนี้ไปอีกนานนนนนนนนหลายปี แรงม้าของ CBR ก็แทบจะไม่เพิ่มขึ้นอีกเลย ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ นี้แหล่ะ

สงคราม Superbike 1000cc เริ่มหนักหน่วงกันมากขึ้นต่างค่ายพัฒนารถที่มีศักยภาพสูงล้ำมากมายในช่วงเวลานั้นจนเจ้าดาบเก่านั้นเอาไม่อยู่
ทาง Honda จึงต้องปล่อยไม้ตายใหม่ที่ถือว่าเป็นสุดยอดสมรรถนะโดยรวมแห่งวงการ Superbike ออกมาในยุคนั้น ( ถ้าไม่พูดถึงเรื่องหน้าตาที่หลายๆคนเบ้ปากมองบนในตอนนั้น แต่มองไปมองมา
มันก็สวยและชินไปเองเหมือนกันนะ )

CBR 1000 RR โฉมนกแก้ว ( 2008-2011 )

กับรูปโฉมที่ปรับใหม่ ย้ายท่อไอเสียลงด้านล่างตามสมัยนิยมและหลักการดีไซน์แบบ Mass centralization คาแร็คเตอร์การควบคุมที่ทำได้ง่ายถูกส่งถ่ายมาตาม DNA แบบรุ่นสู่รุ่นแต่ถูกเกลาให้
เนียนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะรุ่นนี้  เครื่องยนต์ใหม่ที่ทรงพลังมากขึ้นแม้รอบปลายมันจะสู้ค่ายอื่นไม่ได้แต่แรงบิดรอบกลางอันมากมายทำให้มันใช้งานง่ายกว่า เรี่ยวแรงปั่นออกมาได้ 175 แรงม้า

ตัวรถเองก็ให้ความเสถียรที่ดีเยี่ยมและ กริปหนึบหนับในช่วงโค้งแม้น้ำหนักแห้งจะหนักขึ้น ( อีกแล้วหรอ ) เป็น 179 กก แต่ตอนขับขี่นี่แทบไม่รู้สึกถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ส่งผลให้มันเป็นดาบที่มีความสมดุลและสมรรถนะรอบด้านที่สุดใน Superbike ยุคนั้น จนคว้าตำแหน่ง Superbike of the year ของหลายๆ สำนักไปครอบครอง

ในช่วงมี 2010 ได้มีการปรับปรุงอีกเล็กน้อยเพิ่มเติมเข้าไปแต่โดยพื้นฐานแทบทั้งหมดก็ยัง อยู่บนเจ้านกแก้วรุ่นเดิมนี่แหล่ะ ยิ้มยิ้ม

ป.ล. น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ผมไม่เคยมีโอกาสขี่รุ่นนี้ ร้องไห้ร้องไห้

CBR 1000RR โฉมกระต่ายเพลิง ( 2012-2016 )

อันที่จริงผมไม่รู้จริงๆว่าโฉมนี้เขาเรียกว่าอะไร ขอเรียกเอาเองว่ากระต่ายเพลิงก็แล้วกัน เพราะดูไปดูมามันคล้ายกระต่ายไม่หยอก หัวเราะหัวเราะ

จริงๆแล้วพื้นฐานของเจ้าคันนี้ก็มาจาก เจ้านกแก้วที่มาเติมนั้นเติมนี่นี่แหละ เพียงแต่ว่าส่วนประกอบต่างๆ ถูกเติมเข้าไปเช่นช๊อคอัพหน้า Showa Big Piston เรือนไมล์ใหม่มีไฟบอกเกียร์เสียที แฟริ่งใหม่ที่ดูดีขึ้น  ในส่วนของเครื่องเคราก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรจากโฉมนกแก้ว เรี่ยวแรงอยู่ที่ 175 แรงม้าเช่นเดิม น้ำหนักก็ยังคงอยู่ที่ 179 กกเช่นกัน


สำหรับจุดเด่นของรุ่นนี้ก็เฉกเช่นกับ เดิมกับโฉมนกแก้ว คือขี่ง๊ายง่าย ขี่เร็วง่าย ช้าได้ ขี่สบาย
Superbike 1000cc คันแรกก็ต้องเจ้านี่แหล่ะ จุ๊บๆจุ๊บๆ

อนึ่งมีอีกรุ่นหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ !!!!

มันคือรุ่นพิเศษ SP ที่ออกมาในปี 2014 แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของรุ่นกระต่ายเพลิงนั่นแหล่ะ เพียงแต่มีการปรับนั่นปรับนี่หลายประการ ช่วงล่างเบรกใช้ของระดับเทพอย่างช๊อคอัพ Ohlins หน้าหลังรวมถึงคาลิเปอร์เบรก Brembo Monoblock  เครื่องยนต์เองก็ถูกปรับนู่นนิดนี่หน่อยจนม้าเพิ่มเติมขึ้นเป็น 180 แรง ( หลังจากวนเวียนอยู่แถว 17x อยู่หลายปีดีดัก )
ข่าวดีในด้านน้ำหนักเองก็คือ  น้ำหนักเปียกของรุ่นนี่ลดลงจนมาแตะ 200 กก ถ้วนๆ แล้ว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหลังจากปรับ CC เป็น 1000CC

นับเป็นดาบที่ทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่มีมาเลย ทีเดียวจนกระทั่ง…

ผ่านการเวลามา 25 ปีสำหรับสายพันธุ์ดาบแห่งไฟ

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองประกอบกับค่ายรถทุกๆค่ายต่างทุ่มทุนสร้างรถ 1000 CC กันแบบจัดหนัก ดังนั้นก็ถึงคราวค่ายปีกนกจะจัดเต็มบ้าง

คงต้องบอกว่าหากยังไม่พูดถึงการขับขี่ ดูแค่หน้าตาและสเป็ครถ ดาบคันนี้จะเป็นดาบที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ Fireblade ที่ผ่านมาเลย

กลับแกล้มผ่านไป ของจริงมา ( ซะที )  หัวเราะหัวเราะ

และนี่คือ HONDA CBR 1000 RR แห่งปี 2017

มาดู Spec นี่นู่นนั่นกันคร่าวๆ

สิ่งหนึ่งที่น่าสรรเสริญมากก็คือ เป็น CBR ที่น้ำหนักเปียกมีเลข 1 นำหน้าอีกครั้งหลังจากไม่ได้เห็นน้ำหนักเบาขนาดนี้มานานนับตั้งแต่ยุค 929 / 954

ระบบอิเล็กทรอนิคส์ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรกแถวยังถูกจัดค่อนข้างเต็มแม้ในตัว Standard ตัวช่วยในการขับขี่ไม่ว่าจะเป็น Cornering ABS , Traction control , Engine Break control
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนปรับแต่งได้เพื่อให้การขับขี่นั้นเข้าใกล้ limit แห่งการขับขี่ได้มากขึ้นโดยที่ยังช่วยเหลือโอบอุ้มในด้านความปลอดภัยอยู่

เรือนไมล์ยุคเก่าหลบไป เรือนไมล์ยุคใหม่มาแล้ว หัวเราะหัวเราะ

เรือนไมล์แบบ TFT สีสันสดใส การแสดงผลครบถ้วนกระบวนความถูกยกมาจากรถราคา 8.7 ล้านอย่าง RC213V-S  นอกจากนี้การแสดงผลไม่ได้ถูกจำกัดรูปแบบไว้แบบใดแบบหนึ่งเหมือน LCD ทั่วไป
หากแต่จะแสดงผลให้เหมาะสมตาม Mode การขับขี่โดยรูปแบบ Layout การแสดงผลก็จะเปลี่ยนไปด้วยตาม Mode การขับขี่


ตารางแสดง Mode การขับขี่และระดับของ P ( Power ) , T ( Traction ) , EB ( Engine Break ) , S ( Suspension ) **อันนี้เป็นช่วงล่างไฟฟ้ามีในเฉพาะ SP2 นะครับ**

ดึงสายตาถอยมาจากเรือนไมล์สีสด เราจะพบกับชุดแผงคอหน้าตาดี มีปุ่มปรับ โทรศัพท์มีกล้อง ( เอ้ยย ไม่ใช่ ) เราจะเห็นน๊อตตรงหัวช๊อคซึ่งเป็นตัวปรับ Compression และ Rebound ของตัวช๊อคหน้า


ก้มภายใต้แผงคอนั้นเป็นช๊อคแบบหัวกลับสีทองอร่ามยึดติดกับคาลิเปอร์ Monoblock ของ Tokico  และแน่นอน ยึดติดกับช๊อคหน้าแบบ Radial Mount รัดด้วยางหน้า 120/70 R17 ตามสเป็คยอดนิยม Superbike ยุคนี้

สำรวจเบาะนั่งกันหน่อย…

คงต้องบอกก่อนว่ามันไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ความสบายแต่เกิดมาเพื่อสายพันธุ์แห่งการควบคุม ดังนั้นจะคาดหวังเบาะใหญ่ๆโอบรัดแบบหนานุ่มตูดคงไม่ใช่หากแต่ต้องถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถสัมผัสอาการของตัวรถได้เต็มที่และนำความรู้สึกของตัวรถที่ส่งผ่านเบาะไปเปลี่ยนแปลงการขับขี่ได้ทันท่วงทีต่างหาก

นั่นคือหลักการของการออกแบบเบาะของรถสปอร์ต

ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า 2-3 ปีให้หลังมานี่ Honda ออกแบบรถได้ดูโฉบเฉี่ยวและดุดันขึ้นอย่างมีนัยยะ

เจ้า CBR 1000 RR ใหม่นี้ก็เช่นกัน ไฟหน้ามันดูโฉบเฉี่ยวดุดันเอาเรื่องอยู่ ว่ามั๊ยครับ … หัวเราะหัวเราะ


ไฟท้าย LED และก้นเพรียวๆ ตามสมัยนิยม

ท่อยาว – ท่อออกตูด – ท่อสั้นใต้ท้อง – ท่อยาว

หลังจากกลับมาน้ำหนักเบาอีกครั้ง สิ่งที่กลับมาอีกครั้งก็คือปลายท่อยาวๆ  แต่ไม่ได้ยาวกลมๆ เหมือนสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันมีเหลี่ยมสันมุมให้ดูเพลินๆตานิดหน่อย
แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะกล่าวคือ สุ้มเสียงมันไม่ได้หงิมๆ ติ๋มๆ เหมือนดาบรุ่นที่ผ่านๆ มา  มันออกจะดุดันและแผดกร้าวในรอบสูงพอสมควร ประหลาดใจประหลาดใจ


เครื่องยนต์

ถูกปรับใหม่ตามแรงกฏดันแห่งยุคสมัยที่ใครๆก็ทำม้าไปแตะๆเลข 200 แต่ Honda ขอปฏิเสธการทำแบบนั้นเพราะมันเป็นการทำลายความ user friendly ในส่วนหนึ่ง เอาแค่พอหอมปากหอมคอ 189 แรงม้าที่ 13,000 รอบก็เหลือกินเหลือใช้แล้วแต่หันมาพัฒนาการส่งกำลังให้เรียบเนียนคาดเดาได้และแรงบิดที่พร้อมใช้งานในรอบต่ำและพรั่งพรูในรอบกลางกันดีกว่า

สเป็คก็คือสเป็ค.. ตัวเลขก็คือตัวเลข..

และของจริงก็คือของจริงวันยังค่ำ สิ่งเดียวที่จะพิสูจน์คำกล่าวอ้างก็คือการทดสอบจริง

สัมผัสแรกที่คล่อมเจ้า CBR 1000 RR ถ้าหากไม่คุ้นชินกับรถสปอร์ตก็คงจะบอกว่า “จะก้มไปไหน”
แต่ถ้าคุ้นเคยกับรถสปอร์ตมาหลายยุคหลายสมัยก็ต้องบอกว่า ท่านั่งของรถยุคใหม่มันประนีประนอมมากแล้ว รถใหม่ในแต่ละปีล้วนปรับให้ user friendly และสบายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการควบคุมแบบสปอร์ตไว้ ( ซึ่งจริงๆ มันสวนทางกัน )  แต่วิศวกรรมสมัยใหม่ก็พยายามจนเสกสรรค์ท่านั่งที่ค่อนข้างสบายไม่โหดร้ายเกินไปและการควบคุมแบบสปอร์ตก็ยังคงไม่ตกหายไป

ผมมีเวลาเพียงไม่กี่นาทีกับ 3 รอบสนามช้าง ระยะทางไม่เกิน 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำกัดมาก ร้องไห้ร้องไห้

แน่นอน ด้วยความไม่คุ้นชินกับตัวรถและเพื่อความปลอดภัยกับเงินในกระเป๋า  ผมเลือกที่จะไม่กดสุด ขี่ไม่เร็วไม่ช้าแต่จะตั้งสติสำรวจรถกันมากกว่า แต่อนิจจาบางทีนักแข่ง Honda ที่ขี่นำหน้า ( บอล ดอนตูม ) ก็พาลากขึ้นไปเร็วบ้างพอสมควรในบางจังหวะเหมือนกัน

ต้องตามให้ทันแบบห่างๆ ไม่ลับตาไปนะ ร้องไห้ร้องไห้

สัมผัสแรก ณ เวลาที่ออกจากพิทไป คงไม่ต้องถามว่าดีไหม สำหรับรถ Honda ถามว่าดีแค่ไหนดีกว่า
หลักๆ ที่ผมสัมผัสได้ก็มีอยู่ 2 สิ่งคือ  เครื่องยนต์ที่ให้ความรู้สึกดิบขึ้นนิดๆและทรงพลังขึ้นจาก Model ก่อนหน้า
แล้วก็น้ำหนักรถที่เบาลงมาก พลิกพลิ้วได้ง่ายแทบไม่ต้องออกแรงกันเลยทีเดียว

จิตวิญญาณ Fireblade ยุคเก่ากลับมาอีกครั้ง !!!!

สัมผัสในการชิพเกียร์ขึ้นและลงนั้นแผ่วเบาและแม่นยำดีตามที่ควรจะเป็นของรถ Superbike  แม้จะไม่ได้มาพร้อม Quick shiter และ Autoblipper แบบในรุ่น SP ก็ตามที

ผมเองก็อดมโนไม่ได้ว่าสัมผัสของเจ้า SP มันจะยอดเยี่ยมขนาดไหน จุ๊บๆจุ๊บๆ

จากนิยาม Total Control

ในเมื่อองค์ประกอบที่ทาง Honda รังสรรค์ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ที่ friendly  น้ำหนักที่เบาหวิว ช๊อคอัพชั้นดี เบรกที่ทำงานได้ดี ( แค่ไหน ขอบอกว่าไม่รู้เพราะมีเวลาน้อยมาก )
และนั่นคือองค์ประกอบแห่งการควบคุม  หลักๆ ผมลองกำหนดจุดเบรก จุดเข้า วงเลี้ยวไว้ในหัวหลังจากผ่านไป 1 รอบ ผมกำหนดว่าให้รถวิ่งไปตามรอยยางดำๆ ที่ประทับไว้บนพื้นแทร็คสนามช้างดู
ว่าตัวรถจะเข้าได้แม่นยำแค่ไหน

คำตอบดูจากภาพคงไม่ต้องถาม หัวเราะหัวเราะ

แม้ Turtle Controller จะเป็นผู้ควบคุมรถ!!!!

มันก็ยังสมนิยาม Total Control อยู่ดี ยิ้มยิ้ม

ถ้าพูดถึงนิยามความเสถียรในช่วงกลางโค้ง  มันให้ความรู้สึกที่ดีงาม ผมจำไม่ได้ว่ามีความรู้สึกหวิวๆ กลางโค้งเลย แน่นอน พื้นแทร็คหนึบ ยาง slick อีกตะหาก แถมยังขี่ช้าเป็นเต่า
แต่ถ้ารถไม่ดีจริง ผมเองก็ยังพอจะจับได้ว่าคันไหนเสถียร คันไหนไม่เสถียร สำหรับคันนี้ ผ่านสิครับ


ในเชิงความนิ่งของตัวรถ แม้ผมจะลดเกียร์พลาด เบรกไม่เป๊ะไปบ้าง แต่อาการสับ สไลด์ ท้ายเลื้อยยังไม่มีให้เห็น ( ก็อีกนั่นแหล่ะ ไม่ได้ขี่เร็วมากแต่ก็ไม่ช้านะ ) ทุกสิ่งอย่างเต็มไปด้วยความเสถียร

ในทางตรง รอบเครื่องที่จัดขึ้นจากรถ Model เก่า

Peak power ไปสุดที่ 13,000 รอบ/นาที ( รุ่นเก่า 12,000รอบ ) ใกล้เคียงกับรถ Supersport 6xx cc เข้าไปทุกๆ วัน ทำให้การเปิดคันเร่งลากได้ยาวยิ่งขึ้นซึ่งมีประโยชน์เหมือนกันในสนาม
ในบางจังหวะที่โค้งต่อเนื่องเราก็ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์เพราะยังอยู่ในช่วย power band อยู่

จังหวะที่ลากรอบผ่านหน้าพิทไปสุ้มเสียงมันแผดกร้าวแตกต่างจากรถ CBR650 ที่วิ่งนำหน้ามากนัก ( รุ่นนั้นเงียบเหมือนขี่รถไฟฟ้าแม้รอบจะแตะ Redline แล้ว )

เป็นอันว่าท่อบ้องใหญ่ของใหม่นั้นมันดุดันไม่เลวเลยหัวเราะหัวเราะ

ตัวรถที่เบาลงแบบนี้นัยยะและเพรียวจนนึกว่าเป็นรถ 600cc
ผมนึกไม่ออกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ารถ 600cc จะไปยืนอยู่ตรงไหน
ในเมื่อ 1000 CC มันหนักกว่าแค่นิดเดียว

ขี่จบสามรอบจะบอกว่ารู้จักตัวรถดีแล้วก็เป็นการโกหกอย่างแน่นอนกับรถที่มีรายละเอียดมากมายขนาดนี้
พันกิโลเมตรอาจจะยังน้อยเกินไป T___T

ผมเองก็คงบอกเล่าเก้าสิบได้แต่พียงคร่าวๆ ว่า ยังไม่รู้สึกว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปเลยสำหรับ CBR 1000 RR ใหม่ล่าสุดนี้

มันให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติตั้งแต่เริ่มคร่อมรถยันลงรถและเชื่อมั่นเฉกเช่นเดิมว่ามันน่าจะเป็นสปอร์ตไบค์ที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน (ในบางครั้ง ) มากที่สุดในท้องตลาดในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ในครั้งต่อไปถ้าเป็นไปได้ทางทีมงาน Just-Ride-it จะพยายามขอหยิบขอยืมเจ้า CBR 1000 RR
มาลองขับขี่กันให้มากกว่านี้ทั้งบนท้องถนนและในสนามเพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังให้มากขึ้นไปกว่านี้ สำหรับครั้งนี้ถือว่าเป็นการเกริ่นนำละกันครับ อมยิ้ม17อมยิ้ม17

ถ้าให้สรุปคร่าวๆ สำหรับเจ้าดาบแห่งไฟเล่มนี้ ผมก็คงพูดได้เพียงในมุมเท่าที่ได้สัมผัสมาว่า
ด้วยสเป็คนี้ ราคานี้ ชื่อชั้นของยี่ห้อ Honda

มันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของคนที่จะซื้อ Sportbike ขนาด 1000 cc แน่นอนครับ

เยี่ยมเยี่ยม

ป.ล. แก้ไขเนื่องจากมีสมาชิกท้วงมาครับ  ตัวที่ขายไทยจริงๆแล้วน่าจะมีแรงม้าไม่ถึง 189 ตัว
แต่จะอยู่ที่เท่าไรนั้น อันนี้ต้องรอดูอีกทีครับ
ป.ล. 2 ตัวเลขต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงในกระทู้นี้ส่วนใหญ่เป็นสเป็คยุโรป สำหรับบ้านเรา อเมริกาตัวเลขอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ครับ

ในท้ายที่สุด กระทู้นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนดังนี้ครับ อมยิ้ม17อมยิ้ม17

Just-Ride-it  ต้นสังกัดผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้ได้ขี่ CBR 1000 RR ครับ
https://web.facebook.com/justrideitteam

AP Honda ที่จัดงานดีๆ นี้ขึ้นมาให้ได้ทดสอบขับขี่ CBR 1000 RR ครับ
http://www.aphonda.co.th

Honda Bigwing เลียบด่วน สำหรับรถ CBR 1000 RR ในการถ่ายทำครับ
https://web.facebook.com/HondaBigWingBKK

ศูนย์ขับขี่ปลอดภัย Honda สำโรง สำหรับรถ CBR 1000 RR โฉมกระต่ายเพลิง ในการถ่ายทำครับ
https://goo.gl/1Zc2Jp

Roleff Thailand สำหรับถุงมือ R086 ที่ใช้ในการขับขี่ครับ
https://web.facebook.com/RoleffThailand/

พี่ตี๋ ( Login : cbrzoom ) เจ้าของ CBR 900 RR และ CBR 954 RR ที่กรุณาให้หยิบยืมรถมาขับขี่ครับ

พี่โอเล่ ( Login : ole scorpion  ) เจ้าของ CBR 929 RR ที่กรุณาให้หยิบยืมรถมาขี่ครับ

สิ่งดีๆ ทั้งหมดไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากน้ำใจและความช่วยเหลือจากทุกๆ ท่าน

ขอบคุณจริงๆครับ

และขอบคุณผู้อ่านที่อ่านจนถึงตรงนี้ด้วยครับ อมยิ้ม17อมยิ้ม17อมยิ้ม17

 

บทความโดย เตี้ย ล่ำ ดำ แก่

Linkต้นฉบับ https://pantip.com/topic/36439961