ห นึ่ ง คั น . . ห นึ่ ง ก ล้ อ ง . . ท่ อ ง อิ น เ ดี ย

ห นึ่ ง คั น . . ห นึ่ ง ก ล้ อ ง . . ท่ อ ง อิ น เ ดี ย

ทริปนี้เกิดจาก ผมมีความคิดที่อยากจะ Backpack  ขี่รถเที่ยวแบบชิลๆ ไปเรื่อยๆ ภายใต้อากาศหนาวๆ
สบายๆ ค่ำไหนนอนนั่น ในประเทศที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งชีวิต ศาสนาและอารยธรรมในราคาที่ไม่แพง

“อินเดีย” นั้นแว๊บเข้ามาในหัวทันทีแบบไม่ต้องเลือกประเทศอื่น ยิ้มยิ้ม

เพื่อความสะดวกไม่วุ่นวาย ไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไรมากมาย ก็เลยไปกันแค่ 2 คน เพราะเกรงว่าถ้าพาคนอื่นไปด้วย เขาอาจจะไม่สนุกกับความไม่แน่นอนของเรา…

ทริปนี้เราอยากจะลองพกแต่กล้อง compact ดูบ้าง พร้อมกับความคิดแบบคนขี้เกียจ ดูด้วยตามากกว่าส่องกล้องอะไรประมาณนั้น
และเนื่องด้วยอยากเน้นสบายๆ  เราจึง กินหรู นอนแพงเท่าที่จะทำได้ งบก็เลยบานปลายไปถึง 3 หมื่นบาท กับเวลา 9 วัน ( ถ้าเขียมๆ 2 หมื่นก็น่าจะทำได้ )

ซึ่งในช่วงแรกของการเดินทาง เราวางแผนการเดินทางไว้คร่าวๆ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้
เส้นทางจึงเพี้ยนมาเป็นดังนี้ครับ

พาราณสี – เดลลี – ชิมลา – นาร์กันด้า – จาลอรี พาส – มันดี – อัมริตสา – อัมบาลา – เดลลี

เอาหล่ะ ออกเดินทางกันเลยดีกว่าครับ  อมยิ้ม17อมยิ้ม17อมยิ้ม17อมยิ้ม17

ชิมลา

พาราณสี

นาร์กันดา

จาลอรี พาส

อัมริตสา
———————————————————————————————————————————————————————————————————————————–
หมวดการเตรียมตัว

ความสนุกอีกอย่างสองอย่างของทริปนี้ก็คือ  กล้องและประสบการณ์ใหม่

พูดถึงกล้องก่อน
ผมเป็นแฟนกล้องคอมแพ็คจำพวก “ครอบจักรวาล” มานานแล้ว  ซึ่งผมก็ใช้กล้องแนวนี้มาตลอดเพราะติดใจ “ความสนุก” และ “สะดวก” ของมันแม้ว่ารูปภาพที่ได้จากกล้องจำพวกนี้จะไม่ได้สวยงามอะไรมากนัก… หรืออาจจะเป็นเพราะผมเป็นพวกชอบอะไรที่มันประมาณ หนึ่งสิ่งมีประโยชน์หลายๆ อย่าง  ถึงได้ชอบกล้องแนวนี้มาก

กล้องตัวก่อนหน้านี้ของผมคือ Olympus Stylus 1 ซึ่งใช้แล้วบอกได้เลยว่า ชอบและใช้สนุกมากๆ รู้สึกว่าถ่ายแล้วมีความสุข ( ไม่รู้เว่อร์ไปป่าว )จนมาถึงตัวนี้  Sony RX10 ii  กล้อง Compact ครอบจักรวาลที่มาพร้อมเลนส์ 24-200 F2.8 ตลอดช่วง

นี่เลยเป็นสาเหตุที่ผมอยากจะลองรีวิวกล้องบ้างฮะ  ( อันที่จริงๆ กล้าๆ กลัวๆ นะ เพราะเราไม่ได้โปรกล้องอะไร แค่ถ่ายแล้วชอบและอยากมาเล่าให้ฟังฮะ ) ผิดถูกประการใดโปรดอภัยด้วย อมยิ้ม17อมยิ้ม17

อีกสิ่งหนึ่งคือ ประสบการณ์ใหม่ที่ว่าคือ  อยากจะลองเที่ยวแบบฝรั่งดูบ้าง ประมาณว่า เปิดหนังสือ Lonely Planet แล้วก็ไปตามนั้น ไม่ต้องหาข้อมูลไปก่อน อะไรแบบนั้น ( เค้าทำกันแบบนี้ป่าวหว่า ) แต่เผอิญไอ้เจ้า Lonely Planet ของประเทศอินเดีย เล่มมันใหญ่และแพงเหลือเกิน  เลยได้เล่มตามในรูปมาฮะ มีแผนที่ให้ด้วย นับว่าถูกใจในราคาสามร้อยกว่าบาทมาก

อย่างที่ว่า ผมมันพวกชอบอะไร All in one  ถ้าพี่ๆน้องๆ จะไม่ว่า กระทู้นี้ จะขอรีวิวเที่ยว กล้อง ไปพร้อมๆ กันเลยนะครับ แฮ่
เหนื่อยครั้งเดียวให้ได้หลายๆ อย่าง ( แม้จะไม่ดีสักอย่าง  )

ป.ล. จริงๆ ผมเอาเจ้า Action Cam ของผมไปด้วยเพราะมันก็ไม่ได้หนักหรือเป็นภาระอะไร  แต่เดี๋ยวชื่อกระทู้จะไม่เท่ห์ เลยไม่ได้กล่าวถึง 55
ป.ล.2  ในเมื่อเป็นรีวิวกล้องด้วย รูปทั้งหมดส่วนใหญ่ 95% จบหลังกล้องทั้งหมด ไม่ได้ตกแต่งใดๆ ยกเว้นย่อรูปด้วย Photoscape ครับ
อนึ่ง ด้วยฝีมือการย่อรูปของผมและ Photoscape ผมยังคิดว่า ภาพจริง full size นั้นคมกว่ารูปภาพที่นำมาลงอยู่นิดหน่อยครับ

————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–
การเตรียมตัวเรื่องรถเช่า

ก่อนที่จะหาตั๋วเครื่องบิน ผมหารถเช่าก่อนโดยการค้นหาในอินเตอร์เน็ท
ด้วยเวลาเตรียมตัวก่อนเดินทางอันน้อยนิด แถมงานประจำก็รัดตัวเป็นอันมาก ก็ไม่มีเวลาหารีวิวหรือพินิจพิเคราะห์อะไรกันมากนัก
ค้นหาแล้วก็เลือกร้านที่เจอร้านแรกนี่แหล่ะ นามว่า StoneheadBikes ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่ารถในเดลลีแล้วก็เมลคุยกันเรื่อยมา

กระบวนการสรุปเป็นข้อมูลคร่าวๆ ก็

1. แจ้งรุ่นรถที่เห็นในหน้าเว็บ
2. confirm รายละเอียดรถ จำนวนวันที่จะเช่า
3. จ่ายเงินมัดจำทาง Paypal ประมาณ 30%
4. วันรับรถยื่นเอกสาร Voucher ที่เขาส่งมาให้หลังจากจ่ายมัดจำและเอกสารส่วนตัวพวก passport , ใบขับขี่ international , ตั๋วเครื่องบินขากลับ
5. วันรับรถ ยื่นเอกสาร เซ็นเอกสารหลายๆ อย่าง ( บริษัทนี้ทำงานเป็นระบบพอสมควร )
6. ตรวจสภาพรถ ขี่ทดสอบโดยการขี่ไปเติมน้ำมันใกล้ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ไปด้วย
7. ถ้าเรียบร้อยพอใจสภาพรถแล้ว จ่ายเงินรวมถึงมัดจำ 10,000 รูปี ที่จะได้รับคืนในวันคืนรถ
8. ส่ง sms หรือ โทรศัพท์ด้วยเบอร์ของเราไปหาเจ้าของบริษัท( คิดว่าน่าจะใช่ ) เพื่อยืนยันการรับรถ ( อันนี้ผมไม่ได้ซื้อ SIM อินเดีย ก็เลยใช้ Roaming เสียเลย )
9. รับรถ มัดของ ออกเดินทาง

รุ่นรถที่ผมเลือกคือ Royal Enfield Bullet ขนาด 350cc  ( มี 500cc ด้วยแต่เพื่อความประหยัดเงิน )
และเอาปีใหม่ล่าสุด 2016 เพราะไปคันเดียวจะได้อุ่นใจนิดนึง

ราคาวันละ 1,400 รูปี  ( คิดเป็นเงินไทยง่ายๆ หาร 2 ) ก็ประมาณวันละ 700 บาทไทย
หากเป็นรถปี 2011 จะราคา 1,000 รูปีเท่านั้นแต่ไม่เป็นไร ขออุ่นใจดีกว่า

รถที่ถูกกว่านี้ก็มีอีกเยอะนะครับ เช่นพวก Yamaha , Honda 150cc  ราคาเพียงวันละ 3-5 ร้อยรูปีเท่านั้น ถูกมากๆ
แต่แหม  มาอินเดีย  ก็ต้อง Royal Enfield เท่านั้น  ถูกต้องไหม หัวเราะหัวเราะ

ป.ล. Rack ท้ายนั้นที่เห็นในภาพนั้นต้องเช่าเพิ่มนะครับ เนื่องจากผมสัมภาระเยอะมาก ( ชุดกันหนาวโดยส่วนใหญ่ และ Notebook สำหรับทำงานซึ่งนายสั่งให้เอาไปเผื่องานเข้ากระทันหัน )


ตั๋วเครื่องบิน

ด้วยความที่เป็นทริปฉุกละหุก จองเครื่องก็ 2 อาทิตย์สุดท้ายก่อนเดินทาง
แถมไม่ได้ไปกลับเมืองเดียวกัน

ผลคือ “แพง”  ทะลุไปหมื่นสองพันกว่าบาทแลกกับตัวเครื่อง Low cost  สายการบิน Indigo คละเคล้า Air Asia ร้องไห้ร้องไห้
ปลายทางขาไปที่แรกของเราคือ

“พาราณสี”

เมื่อลงเครื่อง  เรื่องราวก็บังเกิด

————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–
Day 1

เป็นเวลาบ่ายคล้อย กับเงิน 800 รูปีกับระยะทาง 25 กิโลเมตร บน Taxi ที่พาร่าง 2 ชีวิตเดินทางจากสนามบินสู่ย่าน “เมืองเก่า” แห่งเมือง “พาราณสี”

หากแต่ส่งไม่ถึงที่เนื่องจากย่านนี้เป็นตรอกซอกซอยเล็กรถยนต์มิอาจแล่นผ่าน
แถมเส้นทางยังซอกแซกประหนึ่งเขาวงกต นักท่องเที่ยวที่มาครั้งแรกอย่างไรก็มึนตึ๊บ

แต่ไม่ต้องกลัวเพราะ Taxi โชเฟอร์ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เรียบร้อยได้ส่งต่อไม้ให้ชายที่ดูเหมือนจะไม่ รู้จักกันมากินเงินเราได้ต่อเป็นทอดๆ ในฐานะ “ผู้นำทาง”

เป็นธรรมดาของธุรกิจอินเดียที่ทุกคนจะร่วมมือกันและส่งไม้ต่อไปเรื่อยๆ ดั่งน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เพื่อดึงเงินตราจากกระเป๋านักท่องเที่ยวให้มากที่สุด

ในที่สุดเราก็ถึง Guest House นามว่า Scindhia
ห้องพักพร้อมระเบียงสนนราคา 1,100 บาทที่ต้องบอกว่าน่าพอใจ


ยังไม่ถึง “ฆาต”

GHAT หรือ ฆาต( ออกเสียงอย่างนี้มั๊ง ) ถ้าเขียนเป็นภาษาไทย คือ ท่าน้ำ   ซึ่งบริเวณเมืองเก่าพาราณสีนี้มีท่าน้ำเรียงรายนับร้อยฆาตไปตามสายแม่น้ำ “Ganga” หรือ “กังก้า” หรือ “คงคา” ตามที่เราเรียกกัน

ที่พักของผม ตั้งอยู่บริเวณ  “มณีกรรณิกาฆาต”  ซึ่งเป็นฆาตที่ใช้ในการ “เผาศพ”
เรือนร่างไร้วิญญาณที่ยังไม่ได้มานอนบนกองไฟที่ฆาตนี้ก็เป็นผู้ที่ยังไม่ถึงฆาตนั่นเอง

อนึ่ง ฆาตนี้มีกฏว่าไม่ควรถ่ายรูปเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ล่วงลับ  แต่ภาพนี้ผมซูมจากห้องไกลๆด้วยระยะ 109mm
พอให้เห็นบรรยากาศพอครับไม่ได้เห็นไปถึง เรือนร่างของผู้ล่วงลับอันเป็นการไม่ให้เกียรติครับ

ส่วนตัวเรานั้น ในเมื่อยังไม่ถึงฆาต  ก็ดิ้นกันต่อไปครับ

109mm f3.2 ISO200
ช่วงบ่ายคล้อยกับอุณหภูมิ 10 กว่าองศา
ทริปนี้อย่างที่บอก เอาชิลครับ  ไม่ได้กุลีกุจอทำอะไร
จิบ “มาซาล่าที” และชมนั่งชมวิว วนๆ ไปครับ


ดวงตะวันไม่เคยเคลื่อนคล้อยโผล่กายให้ชมตลอดวันครับ
มีแต่มวลหมอกที่ลอยล่องไหลผ่านมาในสายตาเท่านั้น

ล่องเรือยามเย็นย่ำค่ำคืน

เขาบอกว่าการล่องเรือเป็น highlight ที่ไม่ควรพลาดของพาราณสีและยามเย็นกับยามเช้าก็ให้บรรยากาศที่แตกต่างกัน
เราจึงล่องเรือกันทั้งยามเย็นและเช้าเลยครับ

เริ่มกันที่ตอนเย็นก่อน
เป็นเวลา 5 โมงเย็นกว่าๆ แต่ฟ้านั้นมืดแล้วที่เราออกล่องเรือไปดูการร่ายรำยามค่ำคืนบริเวณ “ดาสอาสวาเมฆาต”
ซึ่งห่างออกไปสัก 2 กิโลเมตรได้มั๊ง เมื่อเรือเคลื่อนตัวออกจากท่า แน่นอนสิ่งที่เราต้องผ่านคือ ฆาตเผาศพ “มณีกรรณิกา”
เนื่องจากฆาตนี้ห้ามถ่ายรูป ผมจึงถ่ายแค่ไกลๆ จากนั้นก็รีบเก็บกล้อง

พอมาถ่ายบนเรือซึ่งไม่นิ่งเท่าไร  ก็จำเป็นต้องเพิ่ม ISO และขอความช่วยเหลือจากกันสั่นของตัวกล้อง ( Sony Steady Shot )
มาดูผลงานก็ถือว่าทำได้ดีสำหรับกล้อง Compact นะครับ

24mm  1/6sec  ISO 400

สนนราคาค่าล่องเรืออยู่ที่ 2 ชั่วโมง 300 รูปี ( ประมาณ 150 บาท )
สนนราคาที่ทางโรงแรมเสนอตอนแรกคือ 1,000 รูปี  แต่ก็ต่อราคามาเรื่อยจนเหลือ 300 แหล่ะ

นั่งเรือชมวิวไปเรื่อยๆ ภายใต้อุณหภูมิ 10 องศา ถือว่าฟินใช้ได้เลยนะครับ

ฟ้ามืดสนิทแล้วต้องเพิ่ม ISO ช่วยแล้ว 1,250 ยังถือว่าเนียนใช้ได้เลยนะฮะ  แต่ Dynamic Range ก็ถือว่าตามสภาพกล้อง Compact นะฮะ  ทำได้ดีแล้วสำหรับ Sensor 1 นิ้ว  ตามความคิดผม

44mm  1/15 sec ISO 1,250
เรามาถึง ดัสวเมดห์ฆาต ( หรือเรียกอีกชื่อว่า Main Ghat )  แล้ว มีผู้คนมากมายมารอดูพิธี Pooja ยามค่ำคืนของชาวฮินดู

24mm f2.8 1/15sec  ISO 1,000

คนแน่นพอสมควรดูแล้วยากที่จะเดินตัดผ่าน เรือหลายๆ ลำขึ้นฝั่งไปดูใกล้ๆ
สุดท้ายเราก็นั่งในเรือเพื่อดูพิธีพูจา จากระยะไกลๆ กันนี่แหล่ะ T____T

ป.ล. บรรยากาศดีนะ หนาวดีครับ


ถึงแม้เราจะอยู่ไกล  แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังโชคดีที่ไม่ไกลมากจนเกินระยะ 200mm ของเจ้า RX10

ด้วยระยะเลนส์เท่านี้ ควบรวมกับความสามารถของ Sensor 1 นิ้วและกันสั่นที่ใช้ได้  ช่วยให้ผมเก็บภาพยามค่ำคืนแสงน้อยได้เนียนพอใช้เลยฮะ แถมภาพยังคมระดับนึงเลย

200mm f2.8 1/100s  ISO640

200mm f2.8 1/60s  ISO 640
Day 2

ตื่นขึ้นมายามเช้ากับความหวังที่จะเห็นแสงตะวัน
และมันก็ดับสูญไปสายหมอกที่ปกคลุมไปทั่วพาราณสี
8 โมงเช้า ล่องเรือชมเมืองพาราณสีอีกรอบหนึ่ง
คราวนี้ 1 ชั่วโมง 200 รูปี


บริเวณ ดัสวเมดห์ฆาตที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนและเรือนำเที่ยว

ป.ล. ขออภัยภาพเอียงแต่บอกแล้วว่าจะไม่แต่งรูป แฮ่ๆ ( เอาจริงๆ ขี้เกียจ ฮะ T___T )
ภาพนี้ถ่ายด้วย Action Cam ฮะ ภาพไหนที่เห็นว่าเป็นมุมกว้างจัดๆ แปลว่าถ่ายด้วย Action Cam นะครับ

“เอ๊าาาาาวู๊ๆๆๆๆๆๆๆ”

สิ้นเสียงลงก็เห็นนกนางนวลที่เขาเชื่อว่าอพยพมาจากซีกโลกทางใต้มารุมกินอาหารที่โปรยไปบนผิวน้ำ

“ดรายย่า” นายเรือวัย 56 ปีของเราได้ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง

แล้วเราก็ทำตาม ยิ้มยิ้ม

ศรัทธา

ผู้คนชาวอินเดียยังคงหลั่งไหล่มาไม่ขาดสายเพื่อให้ได้สัมผัส ดื่ม อาบ  ลำน้ำศักดิ์สิทธิ์อันมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยนามว่า “กังก้า”
หรือ “คงคา” ตามภาษาคนไทยเรา


ดูเหมือนฟืนที่จะขายดี..

มีการขนฟืนมายัง มณีกรรณิกาฆาต อยู่เรื่อยๆทางเรือ ( เนื่องจากทางบกนั้นเป็นตรอกซอกซอยเล็กมากขนลำบาก เลยมาทางน้ำแทน )


นำขึ้นฝั่งมาก็มากองไว้รอเพื่อขนไปทำการฌาปนกิจศพ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำ


ถัดจากบริเวณนี้เป็นดินแดนเผาศพแล้ว ห้ามถ่ายรูป

เอาหล่ะ ได้เวลาอาหารเช้าแล้ว
ชาวบ้านก็ประกอบอาหารกันตามีตามเกิดริมน้ำเนี่ยแหล่ะครับ


เผอิญเราคุยกันถูกคอกับ “ดรายย่า”  นายเรือของเรา
เขาได้เชิญไปบ้านเขาเพื่อรับประทานอาหารเช้ากัน

บ้านเล็กๆ 1 ห้องนอนและ 1 ห้องครัว พื้นที่ไม่น่าเกิน 28 ตามรางเมตร แต่มีผู้อาศัยอยู่ในบ้าน 6 คน!!! หลิ่วตาหลิ่วตา
บริเวณครัว ภรรยาของดรายย่ากำลังใช้แป้งทำ “จาปาตี” อยู่  ซึ่งเป็นแป้งแผ่นๆที่นิยมทานกันสำหรับคนทางเหนือของอินเดีย
แต่ทางใต้นิยมทานข้าวเป็นหลักมากกว่า


ภายในห้องนอนมีเพียงเตียงเดียว  นอนกันบนพื้นบ้าง บนเตียงบ้าง ในห้องครัวบ้าง


หน้าตาอาหารเช้าของเราครับ เรียกว่าอะไรไม่รู้
รสชาติก็พอทานได้ครับ

ออกไปเดินในเมืองกันบ้าง

อันที่จริงจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของพาราณสีคือ ตรอกซอกซอยอันลึกลับซับซ้อน
เต็มไปด้วยผู้คน ร้านค้า นักบวช วัว ขยะและอุจจาระ!!!
แต่ด้วยความที่ทริปนี้เราตั้งใจมา แบบสบายๆ เลยไม่ได้เดินสำรวจกันมากนัก เน้นนั่งๆนอนๆ เสียมากกว่า

อนึ่ง การถ่ายรูปสักที่มักจะโดนขอเงินประจำ เลยไม่ค่อยจะอยากถ่ายเท่าไร ออกแนวแหยงๆ เลยหล่ะ
บางทีก็เลยใช้ Action Cam กดมั่วๆ มา ซึ่งคุณภาพของภาพก็ต้องทำใจหน่อย ร้องไห้ร้องไห้


นักบวชมีให้เห็นทั่วไป
เผลอถ่ายรูปเข้าให้ต้องโดนขอตังค์ทุกทีไป


55mm f5  1/13sec  ISO 400
ออกมาเดินเล่นริมน้ำ ถ่ายเด็กๆ ดีกว่า ไม่เสียตังค์ด้วย แฮ่ๆ

และสุดท้ายสำหรับ พาราณสี  เมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่มายาวนานตลอด 4,000 ปี กับวิธีชีวิตที่ยังคงตั้งอยู่บนหนทางแห่งความจริงและศรัทธาอยู่มิเสื่อมคลาย

ความจริงๆต่างๆ ของชีวิตถูกตีแผ่ออกมาชัดเจนแจ่มแจ้งไร้การปิดบัง ไม่ว่าจะเป็นการ เกิด แก่ เจ็บ และโดยเฉพาะการตายผ่านภาพที่เห็นกันจนชินตาผ่านวิถีชีวิตของผู้คนที่แม้ความเจริญจากการท่องเที่ยวจะคลืบคลานเข้ามา แต่ก็ยังมิอาจเปลี่ยนเนื้อแท้รากฐานแห่งวิถีชีวิตและความศรัทธาของชาวพาราณสีให้ผิดเพี้ยนไปได้

เอาหล่ะ ถึงเวลาอันสมควรในการจากลาจากเมืองนี้กันแล้ว

59mm f5.6 1/160sec ISO 200

บอกลา “พาราณสี” และสวัสดี “เดลลี”  ด้วยการเดินทางบนรถไฟกันดีกว่า

เนื่องจากผมไม่ได้ซื้อซิมอินเดียไว้
ทำให้ไม่มี internet เล่นและค้นหาข้อมูล
ดังนั้น เราก็ไปตามแผนที่ที่แถมมากับหนัง สือ “มาโคโปโล” นี่แหล่ะ

เส้นทางรถไฟ เดินทางจาก พาราณสี ผ่าน Lucknow  ( ลัคเนา ) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้น Utara Pradesh ( อุตะระประเทศ ผมเรียกว่างั้น ) และผ่าน Moradabad ( โมราดาบัด )  จนกระทั่งไปสุดสายที่สถานีเดลลี


หากเพียงแต่ว่าเป็นการเดินทางอันแสนยาว นานเพราะกว่ารถไฟจะมาเลทไป 7 ชั่วโมงเท่านั้นเอง !!!! ร้องไห้ร้องไห้
และผมต้องนั่งรอรถไฟข้ามคืน และข้ามปี !!!!!  ภายใต้บรรยากาศการจุดพลุเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่หัวใจและร่างกายหนาวเหลือเกินกับรถไฟ ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร นอนเกลือกกลั้วบนพื้นสถานนีพาราณสีเป็นสิบๆ รอบรถไฟก็ยังไม่โผล่ แถมฟังประกาศก็ไม่ค่อยออกเนื่องจากภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียเป็นอะไรที่ฟังยากสำหรับผม

แต่ในที่สุดรถไฟก็มาและโชคดีที่ได้คนอินเดียท่านหนึ่งช่วยฟังให้และบอกเราว่า รถมาแล้ว ( เล่นเอาเกือบตกรถเหมือนกัน )
รวมศิริเวลาทังสิ้นบนการเดินทาง 700 กิโลเมตร รวมถึงเวลาที่นอนรอรถที่สถานี ด้วยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 24 ชั่วโมงพอดี!!!

Day 3

เอาจริงๆ  รถเลทไป 12 ชั่วโมง( 7 ชม ที่สถานี + 5 ชม ที่วิ่งช้ากว่าเวลาปกติ ) ทำให้เราอดขึ่รถมอเตอร์ไซค์ไป 1 วันเต็มๆ จากที่จะถึงเช้าแล้วไปรับรถกลายเป็นถึงซะค่ำ ก็เลยต้องรับรถวันต่อไป  แต่ก็นะ ทริปนี้ตั้งใจมาพักผ่อนชิลๆ  เลยทุ่มทุนซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 เลย  2 คนก็ตกประมาณ 5 พันกว่ารูปีได้

แต่เอาเถอะด้วยความที่รถเลทมาก ทำให้เราได้นั่งชมวิวทิวทัศน์ของอินเดียแบบสบายๆ เรื่อยๆ แบบส่วนตั๊ว ส่วนตัว


อาหารบนรถไฟไม่ฟรีนะ มีให้ทั้งข้าวทั้ง จาปาตี  แต่ก็กินไม่หมดอยู่ดี

ป.ล. Mode สี Vivid ของเจ้า RX10 ii เหมือนจะสีสดไปหน่อยนะเนี่ยในบาง จังหวะที่แสงน้อยๆ


บรรยากาศแอบถ่าย

ณ สถานีอะไรไม่รู้ รถไฟจอด มีเวลาไม่มากนัก วิ่งลงไปแล้วชักกล้องขึ้นมาถ่ายแล้ววิ่งขึ้นรถไปเลย 55
แม้จะเป็นกล้องคอมแพ็คเซ็นเซอร์เล็ก แต่หากฉากหลังไกลพอ ก็สามารถละลายหลังได้
เพียงแต่ว่า ความเนียนของส่วนที่หลุดโฟกัสนั้นอาจจะไม่ค่อยมี  ค่อนข้างจะแข็งๆ ไปหน่อย
แต่เอาน่ะ ได้ขนาดนี้ถือว่า ก็น่าพอใจอยู่นะ

161mm f2.8 1/250s ISO 200
Day 4

เราเลือกที่จะลงรถไฟแถวชานเมือง ณ เมืองที่ชื่อ Ghaziabad ( กาซิอาบัด ) ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของเดลลี   ถ้าเปรียบกับไทยก็คงเป็นปทุมธานีเพียงเพราะคิดว่า จะประหยัดค่าเดินทางมา ยังร้านเช่ามอเตอร์ไซค์

แต่กลายเป็นว่า พอลงจากรถไฟหารถเดินทางเข้าไปยังย่านเดลลีตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ไม่ได้เลย
และเนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เราเลยยุติความพยายามในการหารถเดินทางทางแล้วตัดสินใจหาที่พักแถวนี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่

แต่กระนั้น เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เราพบความลำบากเป็นอย่างยิ่งในการหาโรงแรม
แม้โรงแรมแถวนี้จะเยอะพอสมควร แต่กลับไม่ต้อนรับชาวต่างชาติ  ( ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน ถ้าให้เดาคงเป็นเรื่องแรงงานต่างด้าว )
กว่าจะมีโรงแรมที่ยอมให้เราพักได้  เดินกันขาลาก
ห้องพักก็ไม่ใช่ราคาถูกๆ นะ คืนละ 1,200 รูปี ( 600 กว่าบาท )แต่สภาพก็ไม่ได้ดีนัก แต่ก็ต้องนอนกันไป

ตื่นเช้ามาโชคดี ได้คนอินเดียช่วยโบกตุ๊กๆ ( หรือ ริคชอว์ ) ให้ แต่กว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่องเล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน . .

ป.ล. ริคชอว์ ที่ กาซิอาบัดนี้ ไม่ใช่ว่าคันไหนก็วิ่งเข้าเดลลีได้  เข้าใจว่า ต้องมีป้าย GHAZIABAD – DELHI เท่านั้นถึงจะวิ่งไปได้ ( ซึ่งริคซอว์ที่มีป้ายนี้ก็หายากมาก )แต่ในที่สุดเราก็หาเจอ

และการเดินทางสู่ร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ Stoneheadbike ก็เริ่มต้นขึ้น….


หลังจากรับรถแล้วตามกระบวนการที่กล่าวไปในตอนต้น
เราเริ่มออกเดินทางจากเดลลี ซึ่งเป็นเมืองที่รถติด “มว๊ากกกกกกกกกกกกกกก”
ทุกส่วนของถนนเต็มไปด้วยรถฉวัดเฉวียน และไร้ระเบียบ นึกอยากจะสวนเลนก็สวนได้เลย
กว่าจะหลุดออกจากเดลลีได้ ก็เล่นเอาลุ้นพอตัวเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้กฏหมายบ้านเมืองเขา  ทางไหนไปได้หรือไม่ได้
สะพานขึ้นได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ก็อาศัย ตามมอเตอร์ไซค์คันอื่นๆ เอา


การควบเจ้า Royal Enfield Bullet 350 พร้อมสัมภาระกับแร็คท้ายแสนหนัก ทำให้หน้ารถลอยๆ คุมยากเหมือนกัน
แค่นั้นยังไม่พอ  น้ำมันถังแรกซึ่งเติมในเดลลี โดนโกงไปเต็มๆ 300 รูปี  เพราะผมถอดหมวกกันน๊อคเค้าเลยรู้ว่าเราเป็นชาวต่างชาติ  แต่เอาเถอะ น้ำมันถังแรกยังไม่รู้อะไร ยอมๆไป ไม่อยากมีปัญหา

ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็หลุดรอดออกมาจาก เดลลี ได้อย่างปลอดภัย

. .

พูดในเรื่องกล้องกันต่อ  เจ้า RX10 เป็นกล้องคอมแพ็คตัวแรกที่ผมใช้รู้สึกว่า มันจัดการในส่วนของ highlight ได้ดี ไม่สว่างเวอร์ไปเลยเหมือนกับกล้องคอมแพ็คทั่วๆไป  ยกตัวอย่างส่วนที่เป็นโครเมี่ยมของเจ้า Bullet
ถือว่าถูกใจมากตรงจุดนี้ เพราะโดยปกติ กล้องคอมแพ็คที่เคยใช้ๆ มาหรือกล้องมือถือมันมักให้ภาพตรงส่วนนี้สว่างเว่อร์ไปเลย

เมื่อหลุดออกจากเดลลี
เดินทางเข้าสู่ถนนสาย NH1  หรือทางหลวงหมายเลข 44 ของอินเดีย
มุ่งหน้าสู่เมือง KARNAL ( คา์นาล )  และ AMBALA ( อัมบาลา ) ตามลำดับ

สภาพเมืองและถนนหนทางช่วงนี้ดูดีมาก ผิดกับอินเดียในโซนอื่นๆ ชัดเจน
ดูสะอาดสะอ้าน ถนน 4 – 6 เลนและสภาพถนนดีมาก จากแพลนเดิมที่ผมกะว่า ถ้าหลุดจากเดลลีได้ภายในบ่ายหนึ่ง
คงกะไว้ว่าคงจะวิ่งได้ถึงแค่อัมบาลาเท่านั้นแต่พอสภาพถนนดีเกินคาด  ทำให้ตัดสินใจไปต่อครับ


เมื่อผ่านเมืองอัมบาล่า  เราจะวิ่งไปต่อเมือง Chandigah ( ชานดิกาห์ )
ถนนจะเป็นทาง Toll way มีด่านเก็บเงิน  แต่ว่ามอเตอร์ไซค์, สามล้อ,รถเข็น,คน,วัว,ควาย ไม่ต้องจ่าย เข้าช่องซ้ายสุดได้เลย จุ๊บๆจุ๊บๆ


ผ่านเมือง ชานดิกาห์ มาได้ไม่นาน
เราเริ่มจะพบเห็นภูเขาเบื้องหน้า
และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางบนทิวเขาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนามว่า “หิมาลัย”

เป็นเวลาสี่โมงปลายๆ แต่อาทิตย์บนฟากฟ้านั้นใกล้จะลาลับเต็มทน
ซึ่งปกติของประเทศอินเดียเดือนมกรา เพียงห้าโมงครึ่งอาทิตย์ก็ลาลับแล้ว
เราคงจะต้องเผชิญความมืดและหนาวเหน็บ กลางทางบนเขาเป็นแน่แท้


รถของเราไต่ระดับ ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ บรรยากาศเย็นลงจนเกือบจะใช้คำว่ายะเยือกได้
เราไม่มีเวลาแวะถ่ายรูปที่ใด ก็ได้แต่เพียงอาศัยการรัวชัตเตอร์จากคนซ้อนเก็บภาพไปเรื่อยๆ
บรรยากาศโดยทั่วไปเป็นภาพหมู่บ้านเล็กๆ ที่มักกระจุกตัวอยู่ริมทางเชิงเขา

จากภาพนี้เราจะเห็นว่า Sensor 1 นิ้วของ RX10 นั้นมี Dynamic Range พอใช้ได้แล้วกับสายท่องเที่ยวแบบเราๆ ซึ่งมันแตกต่างกับกล้องที่มี Sensor ขนาด 1/1.7 นิ้วพอสมควร เพราะขานั้นต้องเลือกเอาว่าอยากจะเก็บส่วนมืดหรือ ส่วนสว่างดี ได้อย่างเดียว แฮ่ๆ

เป็นเวลาหกโมงเย็น ฟ้ามืดสนิท
ในที่สุดเราก็ต้องยอมแพ้โดยที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้
เราหาที่พักริมทางบนถนนสาย NH5

Day 5

ถนนสายนี้ช่วงระหว่างเมือง กัลก้า ( Kalka )  ถึงเมือง ชิมลา ( Shimla )  นอกจะจะเป็นช่วงที่เริ่มไต่สู่เทือกเขาหิมาลัยแล้ว
ยังมีความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือ  “ทางรถไฟไต่เขา”  หรือที่รู้จักกันในนาม Toy train
ซึ่งเป็นทางรถไฟเล็กๆ ที่ไต่ภูเขาขึ้นไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งถึงเมืองชิมลาที่ตั้งอยู่บนความสูงระดับ 2 พันกว่าเมตรเลยทีเดียว

ภาพข้างล่างนี้เป็น Toy train ขบวนที่สองของวัน  ( มีทั้งหมด 4 ขบวน )
ออกจากเมือง กัลก้า เวลา 05:30 และผ่านหน้าที่พักผมเวลาประมาณ 06:00 ได้
ภาพนี้อาจจะเหมือนกลางวัน แต่จริงๆแล้วยังเป็นเช้ามืดอยู่
ผมเพิ่ม ISO ไปที่ 1,600 เพื่อให้สามารถ มองเห็นรถไฟได้

24mm f2.8 1/15s ISO 1600

ผมเดินออกจากโรงแรมไต่เขามาได้สัก 20 เมตรเพื่อดักรอถ่ายรถไฟ
ยืนรออยู่ 20 นาที มือไม้แข็งไปหมดเพราะอุณหภูมิขณะนั้น 4 องศาเซลเซียสได้ ร้องไห้ร้องไห้


Highlight หนึ่งของ Toy train คือเจ้าคันนี้

“Rail Motor”

มันคือรถ Bus จำแลงแปลงกายมาเป็นรถไฟจุ๊บๆจุ๊บๆ

ออกเดินทางต่อ
เส้นทางของเราในวันนี้ครับ


บนถนนอันคดเคี้ยวจากกัลก้าไปยังชิมลา  เราจะผ่านเมืองใหญ่หนึ่งเมืองนามว่า โซลาน
ตั้งตระหง่านอยู่บนเชิงเขาสามารถมองเห็นแต่ไกลจากถนนอันคดเคี้ยว


วิถีชีวิตชาวบ้านริมทาง


บนความสูงระดับเฉียดๆ 2 พันเมตรจากระดับน้ำทะเลยามฤดูหนาว
คำว่าร้อนไม่มีให้ได้สัมผัสตลอดวันไม่ ว่าจะเป็นเที่ยงหรือบ่าย
อุณหภูมิเลขตัวเดียวเป็นเรื่องปกติ…

ชิมลา ( Shimla )

เมืองที่ตั้งบนความสูงกว่า 2 พันเมตรจากระดับน้ำทะเล ห้อมล้อมด้วยต้นสนให้ความรู้สึกสุดแสนโรแมนติก
อากาศที่ดีและเย็นตลอดปีทำให้เมืองนี้ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูร้อนของอินเดีย
เนื่องจากเดลลีนั้นร้อนมาก คนส่วนใหญ่เลยเดินทางหลบร้อนมาที่นี่กัน

สถาปัตยกรรม ณ ใจกลางเมืองแห่งนี้ให้ ความรู้สึกเหมือนอยู่ยุโรปอย่างไรอย่างนั้น
ผมเลือกเส้นทางนี้ก็เพราะอยากมาชมชิมลาสักครั้ง


ก่อนเข้าใจกลางตัวเมือง
แวะชมสถานีรถไฟชิมลา อันเป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสาย กัลก้า – ชิมลา กันก่อ

คำถามที่เคยเกิดขึ้นในใจว่า เจ้า Rail Motor ที่วิ่งขึ้นเขาไปแล้วมันวิ่งกลับ เอาหัวรถลงมาได้อย่างไร
คำตอบคือ วงล้อกลับรถที่อาศัยแรงคนหมุนด้านซ้ายมือ
ด้วยแรงคนหมุนนะ !!!!


ผู้โดยสารที่ลงจากสถานีแล้ว หากจะไปยังใจกลางตัวเมืองยังต่อต่อรถโดยสารไปอีกนิดหน่อย

สิ่งที่หวัง ไม่เป็นอย่างหวัง

จากที่คาดหวังว่าชิมลาจะเป็นเมืองที่หนาว เย็นและสวยงาม ข้อนั้นจริงอยู่ แต่สิ่งที่มาทำลายความหวังคือ ตัวเมืองที่วุ่นวาย ผู้คนที่ล้นหลาม
ถนนที่คับแคบมากและรถราที่ขวักไขว่มากถึงมากที่สุด โรงแรมที่มีที่จอดมอเตอร์ไซค์ใกล้ๆ กับ “Mall Road” ซึ่งเป็นถนนสายหลักของชิมลานั้นหายากหรือไม่ก็ราคาแพงเกินไปสำหรับเรา


จากเดิม สิ่งที่คิดไว้คือ ไปเดินเล่นที่ Mall road ยามค่ำคืนภายไต้บรรยากาศอุณหภูมิติดลบ( ช่วงนั้นอุณหภูมิที่ชิมลาหลังฟ้ามืดลง อยู่ประมาณ  -1 องศา ) ก็ต้องล้มเหลวไปในทันที เนื่องจากไม่อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ผู้คนมากมายและรถรามหาศาลขนาดนี้

ลาก่อนนะ Mall Road

Credit ภาพ : อากู๋


ตัดสินใจทิ้งชิมลา ( ไว้ก่อน ) เดี๋ยวขากลับอาจจะมาแวะ
ออกเดินทางกันต่อ

หิมะแรก

หลังจากผ่านชิมลามาได้สักพัก เราเริ่มเจอก้อนหิมะริมทางหลวง NH5 ซึ่งความสูงในตอนนั้นประมาณ 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลได้
และตรงบริเวณใกล้ๆ นั้นมีเมืองเล็กๆ นามว่า คูไฟร ( Kufri ) ซึ่งมีชื่อเสียงพอสมควร ผู้คนที่มาเที่ยวชิมลามักจะต้องแวะมาเมืองนี้ด้วย
และเมืองนี้มีลานสกีด้วยนะ จะบอกให้


การเดินทางในอินเดียฤดูหนาวนั้น เป็นความผิดพลาดเล็กๆที่ผมเลือก
เพราะว่ามีช่วงเวลากลางวันน้อย ( 08:00-17:30 )  กว่าจะจัดการกิจกรรมประจำวันเสร็จและล้อหมุนได้ก็ปา เข้าไป 10 โมงกว่าแล้ว
และยังต้องกินข้าวกลางวันและแวะเที่ยว อีก เราจึงมีเวลาขี่กันจริงๆเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
บางวันรีบจนไม่ได้กินข้าวกลางวัน

นอกจากเวลาน้อยแล้ว ความหนาวยังเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงอีกอย่างหนึ่ง
บนเทือกเขาหิมาลัยตอนล่าง ความหนาวเหน็บนั้นไม่ได้โหดร้ายนัก แต่ก็อยู่ในระดับเลขตัวเดียว
บางจังหวะขี่ไป จอดถ่ายรูปไปก็ต้องเอามือมาจับเครื่องยนต์เพื่อให้ความอบอุ่นกับมือเป็น ระยะๆ
เพราะส่วนที่จะแย่ก่อนใครก็คือมือกับเท้านี่แหล่ะ

ด้วยสภาพแวดล้อมที่กล่าวมารวมกับสภาพถนน ที่ไม่ได้ดีเด่อะไร ออกจะแย่ด้วยซ้ำบางช่วง
ทำให้เราเดินทางได้แค่วันละ 150 กิโลเมตรก็เต็มที่แล้วครับ ร้องไห้ร้องไห้

หลังจากผ่านความสูงระดับ 2,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล
แล้วก็ไต่มาเรื่อยๆจนถึงเมืองหนึ่งในเวลาที่ไร้อาทิตย์บนฟากฟ้าแล้ว

นาร์กันดา ( Narkanda )

เมืองเล็กๆ แต่ยังอยู่ในเขตของชิมลา ห่างออกมา 65 กิโลเมตรบนเส้นทางสาย ฮินดูสถาน – ทิเบต หรือ NH5 นั่นแหล่ะ
ความสูงที่ตั้งอยู่ก็ 2,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศบอกได้เลยว่าหนาวที่สุดในทริปนี้แล้ว
เรามาถึงที่นี่แบบทุลักทุเลเพราะความ หนาว เมื่อได้ห้องพักในราคา 2,000 รูปี ( ประมาณพันกว่าบาท ) ที่นี่เป็นสวรรค์ของเรา หากแต่ภายในห้องนั้นอุณหภูมิยังต่ำ 4 องศา!!!!

เรารีบเอาตัวเข้าไปนอนในฝ้าห่มด้วยความทรมาน ร้องไห้ร้องไห้


อาหารมื้อเย็นบนเตียงอุ่นๆ ( หรือเปล่า )

Day 6

เช้ามืดอุณหภูมิที่นี่ -4 องศา หนาวยะเยือกเข้ากระดูกดำ
ออกมานั่งชมวิวที่ระเบียงห้องจิบกาแฟ แป๊บๆ ก็ต้องเข้าห้องแล้วออกมาใหม่เพราะทนความหนาวไม่ไหว


มองไปไกลๆ ถ้าไม่มีหมอกจะมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ทอดตัวยาวไป


นาร์กันด้าเป็นเมืองแรกๆ ที่เห็นภูเขาหิมะ
ยอดเขาที่เรียงรายถัดไปจากเมืองนี้ไปทางทิเบต ล้วนมีความสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจาก 3,000 เมตรขึ้นไป
ในวันที่ผมไปอากาศไม่ค่อยจะสดใสเท่าไร ต้องอาศัยบางจังหวะที่ลมพัดหมอกไปจะเห็นภูเขาหิมะตั้งตระหง่านบ้างเป็นครั้งคราว


การเกษตรแถวนี้นิยมปรับหน้าดินให้เป็นขั้นบันได

โบกมือบ๋ายบายเมืองนาร์กันดาแล้วไปต่อ
วันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวันที่บีบหัวใจการขี่รถี่สุดในชีวิต อย่างไรเดี๋ยวมดูกัน
ออกจากตัวเมืองถนนเฉอะแฉะเพราะหิมะ( ที่ละลายแล้ว )


จากแผนเดิมที่เราจะนอนกันที่ชิมลาและเดินทางต่อไปธรรมศาลาทางทิศเหนือ
พอชิมลาไม่ถูกใจเรากลายเป็นว่าเราขี่มา เรื่อยๆจนเจอนาร์กันดาซึ่งไม่อยู่ในแผนเลย
และเราไม่มี internet ไม่มีข้อมูลใด มีเพียงแผนที่ที่ติดมากับหนังสือ Marco Polo ของเรา
เราเลยเลือกที่จะวิ่งขึ้นไปข้างบนตรงๆ ( เส้นสีฟ้า )
แทนที่จะวิ่งย้อนลงกลับมาชิมลาแล้วขึ้น เหนือด้วยเส้นสีเขียว

ซึ่งตอนหลังมาทราบหลังจากมีข้อมูลทาง internet ว่า ถนนสาย NH305 ที่แยกจากถนนสาย NH5 บริเวณดาวสีแดงดวง แรกด้านล่าง
เป็นหนึ่งในถนนที่อันตรายที่สุดในอินเดียเลยทีเดียว

และคราวนี้เรามาคันเดียว!!!


หลังจากออกมาจากนาร์กันดาได้สัก 10 กิโลเมตร
เราพบเจอกับถนนบนเขาที่ดีที่สุดในทริปนี้ ค่อนข้างเรียบและโค้งลัดเลาะไปบนเขาสูงชัน
กับถนนสาย NH5 ฮินดูสถาน – ทิเบต

ผมรู้สึกโล่งใจแบบบอกไม่ถูก คิดว่าวันนี้เราต้องถึงที่พักแบบชิลๆ แน่ๆ


แวะถ่ายรูปตามสองข้างทางไปเรื่อยๆครับ
ชายชราหาบเร่ตามเส้นทางถนนสาย NH5

เมื่อแยกจากถนนสาย NH5 เข้าสู่ NH305 เราก็เจอถนนค่อนข้างแย่ แต่ก็ยังพอทน
ผมก็ขี่ไปเรื่อยๆ


ถนนสายนี้ยิ่งขี่ลึกไปเท่าไร ยิ่งเล็กและยิ่งเปลี่ยวขึ้นเรื่อยๆ 1 ชั่วโมงมีรถสวนมาไม่ถึง 5 คัน
มิหนำซ้ำยังพาไต่ระดับขึ้น เรื่อยๆ  ผมเริ่มหวั่นๆนิดหน่อยกับ การมาแบบไม่ศึกษาหาข้อมูลในครั้งนี้


พอหมดถนนลาดยางเข้าสู่ถนนลูกรังแถม ยังต้องข้ามลำธารหลายๆ ลำธาร
ผมชักใจไม่ดีแล้ว แต่ก็ต้องมุ่งหน้าต่อไป

และความเลวร้ายก็มาเยือนเมื่อสายหิมะโปรยปรายมา
จะถอยก็เข้ามาลึกมาก มีทางเดียวคือเดินหน้าต่อไปให้เจอบ้านคน


ผมถึงบางอ้อและเข้าใจว่าตัวเองพลาด อย่าง หนักที่เลือกเส้นทางสายนี้

จาลอรี พาส ( Jalori Pass ) ซึ่งมีความสูง 3,122 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ที่ไหนของอินเดียที่ถูกเรียกว่าพาส ถนนที่นั่นจะไม่ธรรมดาครับ ( โดยเฉพาะในแคว้น จามมูและแคชเมียร์  และ ฮิมาจัลประเทศที่ผมกำลังเดินทางอยู่ตอนนี้ )

ณ ช๊อตนี้ผมคิดออกอยู่อย่างเดียว
“ต้องรีบลงก่อนที่หิมะจะหนักกว่านี้จนลงไม่ได้”

โกยสิครับ ร้องไห้ร้องไห้


จากนั้นไปนรกของแท้ครับ 2 กิโลเมตรเราใช้เวลากันประมาณ 2 ชั่วโมง
ใครเคยขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์บนหิมะคง เข้าใจดีว่ามันเป็นอย่างไร
ในภาพนี้คือช่วงที่ดีแล้ว ส่วนช่วงที่แย่มันเต็มไปด้วยหิมะ  ช่วงนั้นจิตตกมากครับ  ในใจคิดอยู่อย่างเดียวว่าขี่ไปข้างหน้า ไม่ต้องปรุงแต่งจิตใจ จะรอดหรือไม่รอดอย่างมากก็ทิ้งมอไซค์แล้วเดินไปหาบ้านคน เอาครับ

ในภาพเราพ้นช่วงกิโลเมตรนรกมาได้ และมีรอยล้อรถยนต์ตะกุยหิมะพอให้มีดินโผล่มาบ้าง ทำให้ยางเริ่มเกาะได้บ้าง ต่างจากตรงที่เป็นหิมะล้วน ยางไม่สามารถเกาะได้เลยห้ามใช้เบรกแรงเด็ดขาดเพราะจะสไลด์พับทันที  ทางเดียวที่ทำได้คือเลือกทางที่คิดว่ายางจะเกาะที่สุดก็ขี่ไปตรงนั้น เดินคันเร่งและเบรกให้เนียนที่สุดและมี แรงพอที่จะไต่ได้หรือประเมินสถานการล่วงหน้าไว้ไกลๆ ถ้าต้องเบรกหรือต้องเร่งส่งครับ

และในท้ายที่สุดผมก็รอดมาจนได้ครับ ขอบคุณที่ยังเมตตา =/\=อมยิ้ม17อมยิ้ม17


ต่อจากนั้นเจอทางลงที่ชันนรกแตก
เป็นถนนที่ชันที่สุดในชีวิตการขี่มอเตอร์ไซค์มาเลย  ( ไม่นับทางเทรลทางเถื่อนนะครับ )
แต่แค่ชันน่ะไม่เท่าไร มันเป็นทางหินลอยข้างๆ เหวน่ะสิ เข้าโค้งผิดมุมหน่อยร่วงเหวได้เลยครับ

ป.ล. มาเจอป้ายเอาอีกฝั่งขาลง  ทำไมไม่ติดป้ายไว้ฝั่งนู้นด้วยคร๊าบบบบ จะได้ไม่ขึ้นไป

สุดท้ายก็ลงมาในระดับที่ปลอดภัย แต่ความอันตรายของถนนแคบๆ นั้นมีตลอด
ถนนเลนเดียววิ่งสวนกัน ประสานงากันได้ตลอดเวลาครับ  รถบัสท้องถิ่นคันนี้ไม่รอดครับ
ว่าแต่ขวางทางเราไปต่อไม่ได้แล้ว สิ  จะมืดแล้วนะ ฮ่วยยยยยยยยย


ในท้ายที่สุดเราก็รอดตายจาก NH305 มาบรรจบกับถนนสายใหญ่ NH3  ทีวิ่งขึ้นเหนือสู่เมืองยอดฮิตอย่างมะนาลี ( Manali )
จุดนี้คือบริเวณที่ถนนบรรจบกัน ครับ ทางไปมะนาลีจะเรียบน้ำขึ้นไปทางเจดีย์ที่เห็นในภาพ
ส่วนผมเรียบน้ำสีเขียวสวยงามนี้ล่องใต้ครับ

แม่น้ำสายสีเขียวสวยมาก มันมีนามว่า “เบียส” ( Beas River )

ปีหน้าผมตั้งใจว่า อยากละวิ่ง NH3 เรียบแม่น้ำเบียสขึ้นมะนาลีมั่งหล่ะ เพราะสวยเหลือเกิน จุ๊บๆจุ๊บๆ


วิ่งเรียบแม่น้ำเบียสไปเรื่อยๆ ทิวทัศน์สวยงามดีครับ
และในที่สุดเราก็ สามารถไปถึงเมือง มันดี ( Mandi ) ในเวลาพลบค่ำพอดี
แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มรู้สึกได้หลังจาก ได้ขี่รถยามค่ำคืนเพียงเล็กน้อยใน ประเทศอินเดีย
ผมเริ่มกังวลใจนิดๆอีกแล้วหล่ะ

Day 7

ทิวทัศน์ยามเช้าอันแสนหนาวเย็นเมื่อมอง จากรีสอร์ทนามว่า “มันนิชรีสอร์ท” นับว่าไม่เลว


สนนราคาถ้าห้องพันกว่ารูปี นั้นต้องนอนด้านหลังใต้บันได
เลยต้องยอมจ่าย 2 พันกว่ารูปีเพื่อให้ได้นอนชั้น 2 ด้านหน้าเห็นวิวทิวทัศน์ และมี WIFI เล่น ( แต่ต้องมานั่งทนหนาวที่ระเบียงห้องนะ ถึงจะเล่นได้ )

ออกเดินทางกันต่อ วันนี้ต้องลงเขาแล้วไปให้ถึงเมือง  “อัมริตสา” ครับ


เส้นทางจาก มันดี ถึง อัมริตสา ตามอากู๋ ( สีฟ้า ) ระยะทาง 280 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเกือบ 7 ชั่วโมง ซึ่งถ้าทำได้ออก 10:00 ก็จะมืดพอดี
หากแต่เราไม่มีแผนทีรวมถึง Offline Map ใน iPhone แฮงค์ตลอด รวมถึงตัว Navigator เองก็เอ๋  สรุป เราวิ่งบนเส้นทางสีแดงครับ ระยะทางเกือบๆ 400 กิโลเมตร ทำให้เราต้องขับขี่กันยามค่ำคืน อันโหดร้ายครับ

โหดร้ายอย่างไร ไปต่อกันเลยครับ


จากพาราณสี ซึ่งเป็นดินแดนแห่งศาสนาฮินดู พอขึ้นเขาไปยิ่งใกล้ทิเบต ความเป็นพุทธยิ่งแรงกล้า
แต่เมื่อเรามาลงเขาอีกด้านหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้เป็นดินแดนซิกซ์ครับ

ผู้คนชาวซิกซ์มักจะรวมตัวทำกิจกรรมบางอย่าง พบเห็นได้มากมายตามริมถนน


ผมรู้สึกประทับใจศาสนานี้เพราะผู้คนมีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันแม้ตามรายทางหากมีการจัดงาน
ก็จะมีการแจกอาหารให้กับผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาด้วย

แคว้นปันจาบ ( Punjab )

นับเป็นดินแดนแห่งการถือกำเนิดของศาสนาซิกข์และยังเป็นศูนย์กลางของศาสนาซิกข์จนถึงปัจจุบันนี้ด้วย
ระหว่างเขตแดนของหิมาจัลประเทศกับปันจาบนั้น มีภูเขาเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยฝูงลิงกั้นระหว่างกันอยู่


หลังจากฟ้ามืดลง ผมต้องเปลี่ยนเส้นทางกระทันหันอีกครั้ง เนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัยที่จะต้องวิ่งบนถนนสายเล็ก
หันไปวิ่งบนถนนสายใหญ่แทน ปัญหาของการวิ่งในรัฐปันจาบยามค่ำคืนของผมมีอยู่ 2 สิ่งคือ  ทัศนวิสัยแย่มากเพราะว่าเต็มไปด้วยหมอกควันจากการเผาอ้อย ( เท่าที่ผมคิดเอง ) และผู้คนที่นี่นิยมเปิดไฟสูงกันตลอด

บอกตรงๆ ว่าอะไรที่อยู่ห่างออกไปข้างหน้า 5-10 เมตรนี้มองไม่เห็นแล้วครับ ผมต้องขี่รถแบบนี้ไป 150 กิโลเมตรมันเป็นควาทรมานแบบบอกไม่ถูกเลย


ในที่สุดความทรมานก็สิ้นสุดลง ผมมาถึงประตูเมือง “อัมริตสา” จนได้ด้วยเวลาประมาณ 4 ทุ่ม
เมืองนี้หมอกหนามาก ผมขี่รถขึ้นฟุตบาทไป 1 ครั้งเพราะมองทางไม่เห็นครับ ย้ำว่ามองไม่เห็นเลย 5 เมตรตรงหน้าก็ไม่เห็นอะไรแล้วครับบางจังหวะ

อัมริตสา ( Amritsar )

เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ค่อนข้างใหญ่ที่เจริญและเต็มไปด้วยร้านอาหารฟาสฟู๊ดแบบตะวันตกและโรงแรมให้เลือกสรรมากมาย
เป้าหมายของเราที่มาในครั้งนี้เพราะต้องการจะชมความงามของ “วัดทอง” หรือ Golden Temple ให้เป็นบุญตากับชีวิตสักครั้ง

เรานอนเอาแรงตั้งแต่ประมาณ 5 ทุ่ม และตื่นตี 4 ครึ่งเพื่อออกเดินทางขี่รถมาจากโรงแรมเพื่อที่จะมาชมวัดทองยามค่ำคืน
ในใจก็หวั่นๆ เหมือนกันว่าขี่รถยามวิกาลในอินเดียขนาดนี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ครับ อีกปัญหาหนึ่งคือแถวๆ วัดทองจะมีที่ฝากจอดหรือที่จอดมอเตอร์ไซค์หรือไม่ คำตอบคือมีที่รับฝากรถมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะครับ

ในภาพเป็นย่านถนนบริเวณวัดทองครับ ซึ่งดูโมเดิร์นและสะอาดเรียบร้อยมาก แถวนี้อย่างกับไม่ได้อยู่ในประเทศอินเดียเลย

เจ้า RX10 ii ไม่ทำให้ผมผิดหวังอีกเช่นเคยกับการถ่ายภาพยามค่ำคืนและเลนส์ที่ค่อนข้างคมตั้งแต่ f2.8 นั้นช่วยให้ไม่ต้องเพิ่ม ISO ไปมากมายนัก สะดวกมากๆ

30mm f2.8 1/25s  ISO400

ทางเข้าวัดทองครับ เราต้องถอดรองเท้าแล้วเดินเข้าไป
ไม่ต้องเสียค่าเข้านะครับ  นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจำนวนน้อยนิดของอินเดียที่ไม่ต้องเสียค่าเข้า ตรงนี้ประทับใจมาก
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเป็นสถานที่ของศาสนาซิกข์หรือเปล่า จึงไม่เสียค่าเข้า เพราะผมรู้สึกว่าผู้คนในศาสนานี้เน้นการให้ การแบ่งปัน มากกว่าการได้รับ  อมยิ้ม17อมยิ้ม17

ผมเข้ามาถึงตัววัดประมาณเกือบๆ 6 โมงเช้าได้ ฟ้ายังมืดสนิท วัดทองถูกประดับแสงไฟสวยงาม
ตัววัดถูกล้อมรอบด้วยบึงศักดิ์สิทธิ์รูปสี่เหลี่ยมซึ่งชาวซิกข์จำนวนมากปรารถนาที่จะมาอาบน้ำที่นี่สักครั้ง


6 โมงกว่าๆ ฟ้าเริ่มสว่างขึ้น สีของตัววัดเปลี่ยนไป


จากสีออกส้มๆ ยามฟ้ามืดมิด กลายเป็นสีทองผ่องอำพรรณยามฟ้ามีแสงสว่างสลัวๆ
บรรยากาศที่เย็นยะเยือกราวๆ 8 องศา ผู้คนที่เป็นมิตรและไม่แออัดเคล้าด้วยเสียงบทสวดที่ได้ฟังแล้วสงบเย็น
ความงามที่ยากจะเอื้อนเอื่อย คงมีเพียงทัชมาฮาลเท่านั้นที่เทียบเคียงได้
แต่บรรยากาศที่ดีงามขนาดนี้ มันเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในอินเดียที่ เคยไปมาเลยครับ จุ๊บๆจุ๊บๆ

อ้อ ถ้าชาวมุสลิมครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปนครเมกกะสักครั้ง ชาวซิกข์ก็ต้องมาวัดทองให้ได้สักครั้ง

ป.ล. ที่นี่เขาห้ามไม่ให้ใช้ขาตั้งกล้องแฮะ เขาคงกลัวพื้นทางเดินหินอ่อนเป็นรอย ผมโดนเตือนมาทีนึง

มีโอกาสได้เข้าไปชมในตัวโบสถ์แต่เขาไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพครับ


เป็นเวลา 7 โมงกว่าที่ฟ้าสว่างท่ามกลางสายหมอก


ที่นี่นอกจากจะไม่เสียเงินค่าเข้าแล้ว ยังสามารถนอนได้อีกนะครับ ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่สำคัญที่สุดของศาสนาซิกข์แท้ๆ
ผมชอบในการแบ่งปันของศาสนาซิกข์จริงๆ

ผู้คนเป็นมิตร สุภาพ ศรัทธาในศาสนาของเขาแสดงออกมาได้อย่างนอบน้อมชัดเจนจนน่าเลื่อมไส


ออกจากวัดทองไปเก็บของและเตรียมตัวเดินทางกลับเดลลี
สภาพบรรยากาศในตัวเมืองก็ประมาณนี้ครับ


จะวิ่งไปชายแดนปากีสถานที่ด่านวาก้า ( Wagah ) แต่ดันไปผิดทาง แต่ก็ได้เรียบๆ ชายแดนปากีสถานเหมือนกัน


วิ่งผ่านหมู่บ้าน รถโคตรติด

แถวนี้น่าจะทำไร่อ้อยกันเยอะ เผาอ้อยกันทีนี่ควันปกคลุมไปทั้งแคว้น

ขากลับ  อัมริตสา – เดลลี  ระยะทาง 450 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่ง 2 วันครับ
ที่สำคัญคือ ฝนตกเละเทะหนาวมาก โชคดีที่เอาเสื้อกันฝนมา  โดยเฉพาะวันสุดท้ายตกหนักมาก ต้องหาถุงพลาสติกมาคลุมกระเป๋า
โรงแรมก็นอนโรงแรมจิ้งหรีดข้างทางเอา สภาพแย่แต่ราคาไม่ถูก คืนละพันกว่ารูปี แย่แย่

สุดท้ายก็ถึงเดลลีอย่างปลอดภัย  แต่เมื่อคืนรถโดนชาร์จค่าเสียหายไปประมาณ 900 รูปี โทษฐานทำโซ่สึกหรอ 0___+

ชาร์จกันแบบนี้ก็ได้หรอ เอาเถอะ ก็จ่ายไป ถือว่ารถเขาสภาพดีมากทำให้เรารอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงว่า ตอนรับรถนี่ไล่โซ่ให้ดูทุกข้อว่าสมบูรณ์ทุกข้อนะพอมาคืนก็ไล่ดูทุกข้อเช่นกัน พอเจอข้อที่สึกไปก็บอกว่าต้องเปลี่ยนทั้งเส้น หลิ่วตาหลิ่วตา

เคราะห์ร้ายยังไม่หมด เครื่องบินดีเลย์ 6 ชั่วโมง เครื่องที่ต้องไปต่อที่ กัลกัตต้า บินขึ้นพอดีต่อหน้าต่อตา
ก็หาซื้อตัวใหม่ที่สนามบิน โชคยังดีที่ไม่เต็มและไม่แพงนัก ( 2 พันกว่าบาท ) ซึ่งได้รอบ 10 โมงเช้า

ก็นอนที่สนามบินจนเช้าแหล่ะจ้า ร้องไห้ร้องไห้ร้องไห้

เป็นประสบการณ์ตกเครื่องครั้งแรกในชีวิต ( ที่สุดท้ายขอ Refund เงินคืนได้ นับว่าคุ้ม!!! )


ได้เวลากลับสู่มาตุภูมิ
เข้าใจว่าแถวนี้น่าจะเป็นปากแม่น้ำคงคาที่จะออกสู่ทะเล

บทสรุปสำหรับเจ้า Sony RX10 ii

เป็นกล้องที่น่าพอใจอย่างมาก ตัวเดียวจบครบถ้วนกระบวนความ Sensor 1 นิ้วของมันแม้จะเล็กแต่ก็เป็นให้ภาพที่มีคุณภาพในระดับที่พูดได้ว่ามันดีในระดับหนึ่ง  Dynamic Range ก็ใช้ได้ ถ้า Sensor เล็กไปกว่านี้ก็ต้องทำใจแล้ว แต่การที่ Sensor เล็กขนาดนี้ทำให้สามารถติดเลนส์ครอบจักรวาลมาให้ได้โดยที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไปนัก แถมเลนส์ที่ติดมานี่พูดได้ว่าคุณภาพไม่ธรรมดา ถ้าแยกขายต้องเกิน 2 หมื่นแน่นอน ( ตามความคิดผม )

ระบบกล้อง เมนูอะไรต่างๆ ใช้งานง่ายมาก สำหรับคนที่ไม่เคยใช้กล้อง Sony มาถึงก็ใช้ได้เลย

Ergonomic อยู่ในระดับพอใช้ได้สำหรับผม ไม่ได้ดีเยี่ยมอะไรนัก แต่ก็ไม่น่าเกลียด

ข้อเสียคือ ใหญ่กับหนักไปนิ๊สสสสนึง แพงไปหน่อยนึง โบเก้ไม่ค่อยเนียน นอกนั้นมือสมัครเล่นชอบความครอบจักรวาลแบบผมก็ไม่มีอะไรให้ติครับ

อ้อ เลนส์ถ้าได้ 24 – 300 f2.8 ตลอดช่วง จะเทพโคตรๆ

สรุป ถ้าใครชอบความสบาย ความจบ ตัวเดียวเที่ยวทั่วโลก  ถ้าคิดสโลแกนให้เจ้า RX10 มันคงต้องเรียกว่า

“1 for all and no compromise”

ป.ล. ถึงแม้ RX10 จะออก Mark III ออกมาแล้วแต่ผมว่าช่วงเลนส์นั้นแตกต่างกัน เจ้า Mark II ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่หากไม่ได้ต้องการเลนส์ที่ไกลถึง 600mm แต่ต้องการรูรับแสง 2.8 ตลอดช่วงแทน

สำหรับเจ้า Royal Enfield Bullet 350

สมรรถนะอาจจะไม่ได้ แต่ถ้าอยากเดินทางอย่างมีสไตล์ ลุยได้เกือบที่ที่แบบเรื่อยๆ  ยกให้เขาครับ ยิ้มยิ้ม
และที่สำคัญมันเชื่อใจได้อยู่

ส่วนอินเดียน่ะหรอ  ไม่ไหวครับ  ประเทศอะไรก็ไม่รู้  กลับมาแล้ว คิดถึง  โหยหา แบบบอกไม่ถูกเลย

อาการนี้ไม่เคยเกิดกับประเทศไหนมาก่อนเลย จริงๆ นะ

นี่สินะ มนต์เสน่ห์อินเดีย

ฉันจะเก็บเธอไว้ในความทรงจำตลอดไป

END

บทความโดย เตี้ย ล่ำ ดำ แก่
Linkต้นฉบับ https://pantip.com/topic/36354899